กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประเมินศักยภาพประเทศไทย ในอีก 10 ปี จะเป็นประเทศศูนย์กลางในอาเซียนที่สมบูรณ์แบบที่สุด ถึงขั้นเป็น 1 ในมหานครที่ดีที่สุดในโลก จากนโยบายงบประมาณด้านการคมนาคมขนส่งมูลค่า 2 ล้านล้านบาท อาทิ การสร้างถนน 4 ช่องจราจรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนมอเตอร์เวย์ ระบบขนส่งทางราง และการปรับปรุงท่าเรือในภาคใต้ ซึ่งกว่า 70% ของการลงทุน หรือ 1.3-1.4 ล้านล้านบาท มุ่งลงทุนเรื่องระบบการขนส่งทางราง อาทิ การลงทุนในส่วนของระบบรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพฯ และระบบรถไฟความเร็วสูง โดยผู้ประมูลงบประมาณดังกล่าวล้วนเป็นบริษัทร่วมทุน หรือบริษัทต่างชาติที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถของชาวต่างชาติผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางมาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดจากประเทศไทยขาดบุคคลากรด้านวิศวกรรมระบบรางที่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ โดยคาดว่า ในปี 2557 — 2565 ประเทศไทยจะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ระบบราง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม สจล. ได้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งทางราง เป็นแห่งแรกในประเทศ โดยหลักสูตรดังกล่าวจะศึกษาถึงเรื่องของระบบการขนส่งทางรางทั้งหมด ทั้งส่วนประกอบของรถไฟและราง การตรวจสอบและซ่อมบำรุง ระบบขับเคลื่อนต่างๆของรถไฟ การควบคุมและติดตามการเดินรถไฟ และระบบรถไฟความเร็วสูงที่ โดยคาดว่าในอีกปี 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้ที่จบหลักสูตรและเป็นวิศวกรรถไฟฟ้า วิศวกรรถไฟความเร็วสูง ที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาประเทศไทยด้วยฝีมือของคนไทยเอง
ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ปัญหาของโครงการการก่อสร้างทางรถไฟของไทยในปัจจุบัน มีหลายปัจจัยที่ทำให้โครงการต่างๆเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งเรื่องของการเมือง งบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างจำนวนมากจนต้องมีการพิจารณากันถึงความจำเป็นในการใช้พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ความยุ่งยากของระบบการดำเนินงานก่อสร้าง ที่ต้องมีการจัดทำกระบวนการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)และการศึกษาถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพของคนในชุมชน (HIA) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำยาวนาน และปัญหาสำคัญคือความรู้ความสามารถของผู้ดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟในประเทศไทยมีศักยภาพไม่เพียงพอ สังเกตได้จากบริษัทเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างที่ยื่นซองประมูลโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ ที่ถึงแม้ผู้รับเหมาที่ลงแข่งประกวดราคาจะเป็นบริษัทของคนไทยแต่ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการขนส่งระบบรางจากต่างชาติอยู่ จึงได้มีการร่วมทุนในลักษณะของ Joint Venture เป็นส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการก่อสร้างการขนส่งระบบรางของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีการพัฒนาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้
โดยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศ แบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของระบบรถไฟรางคู่ 6 เส้นทาง รวมกว่า 4,000 กิโลเมตร รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพฯ 10 สาย และระบบรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางที่มีเป้าหมายเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และพม่า ซึ่งหากภาครัฐมีการผลักดันโครงการต่างๆดังกล่าวให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่องแล้วจะส่งผลดีถึงระบบโลจิสติกส์ทั่วประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีตำแหน่งที่ตั้งเป็นยุทธศาสตร์ในการขนส่งอยู่แล้ว และที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้ จะทำให้ระบบขนส่งของไทยมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ และที่สำคัญยังเป็นเส้นทางการขนส่งที่เชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่าโดยตรง และจะทำให้ระบบขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพ ตามมาด้วยต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกลง นอกจากประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าแล้ว ในด้านของการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ไทยจะได้เปรียบเป็นอย่างมากจากปัจจัยดังกล่าว และในระยะยาวจะนำมาซึ่งการขยายตัวของ GDP ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี นอกจากนี้ในส่วนระบบการเดินรถนั้น รถไฟหัวดีเซลจะสามารถใช้ความเร็วได้ในอัตรา 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากปัจจุบันที่ใช้ความเร็วในการเดินรถต่ำและใช้เวลาในการขนส่งมาก เนื่องจากต้องรอสับหลักและสภาพรางรถไฟไม่สมบูรณ์มากนัก เพราะบางเส้นทางมีการใช้งานมายาวนาน
ปัจจุบันการดำเนินงานพัฒนาระบบรางของไทย ต้องอาศัยความร่วมมือจากต่างชาติ อาทิจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และล่าสุดคือ ประเทศฝรั่งเศส ตามมาด้วยสเปนและเยอรมนี เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีด้านระบบราง ช่วยให้การประกวดราคาการก่อสร้างเปิดกว้างอย่างแท้จริง ประเด็นสำคัญคือการใช้งบประมาณที่มากถึง 1.4 ล้านล้านบาท (ผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลออสเตรเลีย อ้างว่า ออสเตรเลียต้องใช้งบประมาณประมาณ 3.5ล้านล้านบาท ในการก่อสร้าง และใช้เวลาประมาณ 40ปีจะแล้วเสร็จ) แต่งบประมาณมูลค่ามหาศาลเหล่านี้จะรั่วไหลออกนอกประเทศเกือบทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยไม่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาระบบ
หากปัญหาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญระบบรางของไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการนี้จะเป็นบริษัทที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากในระยะสั้น อาทิ การเกิดภาวะการขาดดุลการค้าจากการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง หนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับในจำนวนมหาศาล และการขาดแคลนบุคลากรผู้ดำเนินงานระบบรางในอนาคต ถึงแม้ภาครัฐจะอ้างว่าปัญหาต่างๆจะหมดไปในระยะยาว แต่ต้องใช้เวลามากกว่า 50ปี ดังนั้นรัฐจึงควรเตรียมแผนรับมือกับปัญหาในระยะสั้นอย่างรัดกุมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล กล่าว
อย่างไรก็ตาม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ซึ่งในอนาคตการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะมีความจำเป็นต่อไทยอย่างมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เราต้องมีการเตรียมความพร้อมคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในการผลิตและดูแลระบบเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและการรั่วไหลของปริมาณเงินมูลค่ามหาศาล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจึงได้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งทางราง โดยหลักสูตรดังกล่าวจะศึกษาถึงเรื่องของระบบการขนส่งทางรางทั้งหมด ทั้งส่วนประกอบของรถไฟและราง การตรวจสอบและซ่อมบำรุง ระบบขับเคลื่อนต่างๆของรถไฟ การควบคุมและติดตามการเดินรถไฟ และระบบรถไฟความเร็วสูงที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ โดยคาดว่าในปี 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้ที่จบหลักสูตรและเป็นวิศวกรรถไฟฟ้า วิศวกรรถไฟความเร็วสูง ที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาประเทศไทยด้วยฝีมือของคนไทย และที่มากกว่านั้นบุคลากรของไทยจะมีส่วนช่วยพัฒนาระบบรางให้กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกับรายได้ที่ไทยจะได้รับคืนจากการลงทุนในทุนมนุษย์ด้านนี้