กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--กรมทรัพยากร น้ำบาดาล
การประชุมเชิงวิชาการครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ)
โครงการสำรวจประเมินสถานการณ์ด้านคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ใกล้เคียง
แหล่งฝังกลบขยะมูลฝอยของเทศบาลในภาคเหนือ
ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 เวลา 09.30 น. นายสัมฤทธิ์ ชุษณะทัศน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงวิชาการครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการสำรวจประเมินสถานการณ์ด้านคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งฝังกลบขยะมูลฝอยของเทศบาล ในภาคเหนือ โดยมี นายอุทัย ลือชัย นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และนายบรรจง พรหมจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ณ ห้องบ้านพันตน ชั้น 6 โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โครงการสำรวจประเมินสถานการณ์ด้านคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งฝังกลบขยะมูลฝอยของเทศบาลในภาคเหนือ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อประเมินสถานการณ์การปนเปื้อน ความรุนแรงและขอบเขตการปนเปื้อนในชั้นน้ำบาดาล และคาดการณ์แนวโน้มการแพร่กระจายที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนบริเวณใกล้เคียงแหล่งฝังกลบมูลฝอยในพื้นที่ภาคเหนือ 2) เพื่อหามาตรการการป้องกัน ควบคุม บรรเทาและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในชั้นน้ำบาดาลรวมถึงแนวทางการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีการปนเปื้อน 3) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และเฝ้าระวังแหล่งน้ำบาดาลในแหล่งฝังกลบมูลฝอยเทศบาล โดยมีพื้นที่ดำเนินการอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของแหล่งฝังกลบขยะมูลฝอยของเทศบาล และบริเวณใกล้เคียงจำนวน 25 แห่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ และสุโขทัย และคัดเลือกให้เหลือพื้นที่นำร่องจำนวน 10 พื้นที่
การประชุมเชิงวิชาการครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) ได้รวบรวมและสรุปผลการดำเนินงานของ โครงการฯ ตลอดจนปัญหาและข้อเสนอแนะ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลและการวิเคราะห์การแพร่กระจายของสารโลหะหนักในชั้นน้ำบาดาลพื้นที่นำร่อง 10 แห่ง สรุปได้ว่า
1) ปัจจุบันยังตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในน้ำบาดาล
2) ผลการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่าไม่มีการแพร่กระจายของสารโลหะหนักลงสู่ชั้นน้ำบาดาล เนื่องจากสารโลหะหนักถูกดูดซับด้วยชั้นดิน และชั้นปิดทับน้ำบาดาล
อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาล และผลกระทบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำบาดาล ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือที่ดำเนินการแล้ว และจะดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป