กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--กรมควบคุมโรค
องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากถึงพันล้านคน 2 ใน 3 ของจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกและในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 คน ใน 3 คน จะมีภาวะความดันโลหิตสูง เช่นกัน และยังมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ.2568 (ค.ศ. 2025) ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 1.56 พันล้านคน
ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงถือเป็น “เพชฌฆาตเงียบ” ที่คอยคุกคามสุขภาพของประชากรทั่วโลก โรคนี้เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในแต่ละปีประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงเกือบ 8 ล้านคน ส่วนประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงนี้ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 50 ด้วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจ
สำหรับสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงของประเทศไทยจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากความดันโลหิตสูงถึง 3,664 คน โดยพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงที่เข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2544 และปี 2554 พบว่าอัตราผู้ป่วยในด้วยโรคความดันโลหิตสูงต่อประชากรแสนคนเพิ่ม จาก 287.5 เป็น 1433.61 ซึ่งมีอัตราสูงขึ้นถึง 5 เท่า
ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงคือผู้ที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่มักไม่ค่อยปรากฏอาการที่ชัดเจนในช่วงแรก แต่เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูงจะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกาย ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแดงแข็งขึ้น ลดความเร็วการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปสู่หัวใจ เป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบ (Stroke) และมีแนวโน้มของการเพิ่มการเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายตามมาได้ โรคนี้มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตโดยเฉพาะการบริโภคอาหารรสเค็ม รับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ความอ้วน วิถีชีวิตนั่งๆนอนๆ/ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่ เครียดและอายุที่เพิ่มขึ้น
ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 4 ระหว่าง พ.ศ.2551-2552 พบว่าประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมีภาวะความดันโลหิตสูง 11.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชายร้อยละ 60 และเป็นหญิงร้อยละ 40 ที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนและไม่รู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง มีร้อยละ 9 ที่ได้รับการวินิจฉัยแต่ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ตามเกณฑ์ และจากข้อมูลการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรคยังพบอีกว่าภายในหนึ่งปีที่ผ่านมา 1 ใน 5 ของประชากรอายุ 35 —74 ปี ไม่ได้รับการตรวจความดันโลหิตจากแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน แยกเป็นเพศชายร้อยละ 26.8 เพศหญิงร้อยละ 18
เพื่อจะสื่อสารสร้างกระแสให้ประชากรตื่นตัวต่อภาระโรค อันตราย และสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงจึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension day)สำหรับคำขวัญวันรณรงค์ความดันโลหิตสูงของกระทรวงสาธารณสุขและสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยประจำปีพุทธศักราช 2556 นี้ คือ “ความดันโลหิตดี หัวใจเต้นดี"โดยเน้นการป้องโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต ที่มีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง และเพื่อการส่งข้อมูล การป้องกัน การคัดกรอง และการดูแลรักษาไปสู่สาธารณชน
“ในการรณรงค์วันความดันโลหิตสูงภายใต้คำขวัญที่ว่า “ความดันโลหิตดี หัวใจเต้นดี" กรมควบคุมโรคในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการสื่อสารความรู้ถึงประชาชนผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวที่จะได้รู้ค่าความดันโลหิตของตนเอง รู้จักจังหวะการเต้นของหัวใจ และรู้จักภาวะหัวใจสั่นพริ้ว พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนรู้จักการปฏิบัติ เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและการเกิดภาวะหัวใจสั่นพริ้ว ด้วยการใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสหวานน้อย ลดการรับประทานอาหาร จำพวกอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง จำกัดการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ ในผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปควรตรวจวัดความดันโลหิตปีละ 1 ครั้งเพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วย ตลอดจนให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง”
“ หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ” ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวปิดท้าย
ติดต่อ:
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค โทร. 02-590-3862 /โทรสาร 02-590-3386