สคร.7 อุบลฯ เผยรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม”

ข่าวทั่วไป Monday May 20, 2013 11:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี 17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก พบประชาชนร้อยละ 60 ไม่รู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงขึ้นเพราะไม่ได้รับการรักษา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี แนะรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการ ลดหวาน มัน เค็ม ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยปรากฏอาการที่ชัดเจนในช่วงแรก แต่เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูง จะไปทาลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกาย จึงเรียกโรคนี้กันว่า “เพชฌฆาตเงียบ” โดยในแต่ละปีประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคนี้ เกือบ 8 ล้านคน ส่วนประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงนี้ ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 50 ด้วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจ ในจำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ร้อยละ 60 ไม่รู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงขึ้นเพราะไม่ได้รับการรักษา และในกลุ่มของผู้ป่วย 1 ใน 4 ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ตามเกณฑ์ World Hypertension League จึงได้มีการกำหนด วันความดันโลหิตสูงโลก เป็นวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เพื่อจะสื่อสารสร้างกระแสให้ประชาชนตื่นตัวต่อโรคความดันโลหิตสูง โดยเน้นการป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต ที่มีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง และเพื่อการส่งข้อมูล การป้องกัน การคัดกรอง และการดูแลรักษาไปสู่สาธารณชน โดยมีคำขวัญวันรณรงค์ความดันโลหิตสูง ประจำปีพุทธศักราช 2556 คือ “Healthy Blood Pressure Healthy Heart Beat” หรือ “ความดันโลหิตดี หัวใจเต้นดี" เน้นการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับวิธีการรักษาโรคความดันโลหิตสูง นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว ยังสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตามแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2555 ดังนี้ 1.การลดน้ำหนัก โดยให้ดัชนีมวลกาย เท่ากับ 18.5 ถึง 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 2.การรับประทานอาหารประเภท ผัก ผลไม้ ให้มาก ลดปริมาณไขมันในอาหาร โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว 3.การจำกัดเกลือในอาหาร โดยให้รับประทานเกลือโซเดียม ให้น้อยกว่า 6 กรัม ต่อวัน 4.การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็วๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และเกือบทุกวัน 5.การลดการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า ความดันเลือดสูงเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีอาการอะไร คนส่วนน้อยอาจปวดหัวบริเวณท้ายทอยได้บ้าง คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ความดันเลือด 140/90 มม.ปรอท เป็นค่าปกติ จริง ๆ คือ เป็นค่าที่ "ต้องรักษา" แล้ว ดังนั้น การตรวจหาความดันเลือดสูงเป็นประจำ มีส่วนช่วยให้พบโรคได้ตั้งแต่แรก ๆ ซึ่งถ้าเราได้มีการปรับเปลี่ยนแบบแผนในการใช้ชีวิต เช่น นอนให้พอ ลดเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฯลฯ จะช่วยป้องกันโรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดช้าลง หรือบรรเทาเบาบางลง โอกาสหรือความเสี่ยงที่จะเป็น โรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบ-ตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจเสื่อม-หัวใจวาย ไตเสื่อม-ไตวายก็จะลดลงได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ