กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--เวเบอร์ แชนวิค
บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือกับสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเข้าร่วมโครงการการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กากของเสียหรือ “3Rs Project” (Reduce, Reuse, Recycle) มุ่งส่งเสริมการจัดการของเสียและลดปริมาณของเสียในภาคของภาคอุตสาหกรรม พร้อมยกระดับสิ่งแวดล้อมที่สดใสอย่างยั่งยืน
จีเอ็ม ประเทศไทย ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กากของเสีย เนื่องด้วยความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินสายการผลิตทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยศูนย์การผลิตยานยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทยนั้นเป็นศูนย์การผลิตแบบปลอดการฝังกลบ ซึ่งของเสียที่เกิดจากการผลิตมากกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) และปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ส่วนอีก 3 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังงานเพื่อใช้ทดแทนพลังงานดั้งเดิม
“เราทุ่มเทอย่างมากในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พนักงานของเราที่ศูนย์การผลิตในจังหวัดระยองมีความมุ่งมั่นในการแสวงหาหนทางลดของเสียด้วยการใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง” มร.เดวิด คลาร์คสัน รองประธานฝ่ายการผลิต ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “เรามีความพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์และกระบวนการที่ดีที่สุดของเราให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศไทย ขณะเดียวกัน เรายังได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่จากบริษัทอื่นๆ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน”
สำหรับการเข้าร่วมโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของจีเอ็ม ประเทศไทย ในการดำเนินงานทุกด้านควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่สายการผลิตไปจนถึงรถที่จัดจำหน่าย จีเอ็ม ประเทศไทย ยังมุ่งหวังว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะส่งผลในด้านบวกแก่ชุมชนรอบข้างศูนย์การผลิตอีกด้วย
จากภาพ: มร.เดวิด คลาร์คสัน รองประธานฝ่ายการผลิต ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยคุณณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคุณสิทธิชัย หอมทอง ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายซ่อมบำรุงศูนย์การผลิต จีเอ็ม เพาเวอร์เทรน ถ่ายภาพร่วมกันในโอกาสการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อเข้าร่วมโครงการการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กากของเสียหรือ “3Rs Project” (Reduce, Reuse, Recycle) มุ่งส่งเสริมการจัดการของเสียและลดปริมาณของเสียในภาคของภาคอุตสาหกรรม พร้อมยกระดับสิ่งแวดล้อมที่สดใสอย่างยั่งยืน