กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
“UN ESCAP ชมนโยบายการคลังไทยที่ช่วยรองรับความผันผวนเศรษฐกิจพร้อมๆกับช่วยกระจายรายได้และใช้นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยในการเข้าร่วมหารือระดับสูงกับผู้วางนโยบายเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติ (U.N. ESCAP High-level Policy Dialogue) ในหัวข้อ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในเอเชียตะวันออก (Macroeconomic Policies for Sustainable Growth with Equity in East Asia) ระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ณ เมืองยอคยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
นายเอกนิติฯ ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในหัวข้อ นโยบายการคลังเพื่อการพัฒนาและผลกระทบต่องบประมาณ (Fiscal Policy for Development and its Budget Implication) โดยได้นำเสนอแนวการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งได้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วจากที่หดตัวถึง -2.3% ในปี 2552 ให้กลับมาฟื้นตัวเป็น 7.8% ในปี 2553 และจากที่ขยายตัวเพียง 0.1% ในปี 2554 เป็น 6.4% ในปี 2555 ทั้งนี้ นายเอกนิติฯ ได้เสนอแนะแนวทางการออกแบบนโยบายการคลังที่มีประสิทธิผลในการรองรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก 4 ประการ ได้แก่ (1) การเลือกใช้เครื่องมือการคลังที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันท่วงที (Timely) (2) การกำหนดเป้าหมายของการใช้นโยบายการคลังไปที่ผู้ที่มีรายได้น้อย (Target) ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในวงกว้างแล้ว ยังช่วยรองรับผลกระทบทางสังคมแก่ผู้มีรายได้น้อยด้วย (3) การใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงชั่วคราวและมีระยะเวลาจำกัดไม่เป็นภาระการคลังในระยะยาว (Temporary) และ (4) การสร้างความโปร่งใสทางการคลัง (Transparency) โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลการคลังและความยั่งยืนทางการคลังให้สาธารณชนได้รับทราบและตรวจสอบได้
นอกจากนี้ นายเอกนิติฯ ยังได้กล่าวถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลังไทยในระยะปานกลางที่มุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์การคลังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเอกชนไทยแข่งขันได้กับนานาประเทศ และการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนการขนส่งให้แก่ภาคเอกชน (2) ยุทธศาสตร์การคลังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น การปฏิรูประบบประกันสังคมให้ครอบคลุมทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ และการใช้เครื่องมือกึ่งการคลัง ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ มาช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจรายย่อย และ (3) ยุทธศาสตร์ การรักษาความยั่งยืนการคลังในระยะยาว โดยเฉพาะการกำกับดูแลหนี้สาธารณะต่อรายได้ (GDP) ไม่ให้เกินร้อยละ 60 ดังนั้น การดำเนินนโยบายการคลังที่มียุทธศาสตร์ระยะปานกลางที่ชัดเจนดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมไปพร้อมๆ กัน
อนึ่ง ในการประชุมหารือระดับสูงดังกล่าว ผู้แทนของ UN ESCAP ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินนโยบาย การคลังของไทยในการรองรับความผันผวนเศรษฐกิจโลกไปพร้อมๆกับการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ยกตัวอย่างนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเป็นกรณีศึกษาให้แก่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะเดียวกัน ก็เป็นนโยบายที่เน้น การกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ผู้มีรายได้น้อย (Inclusive Growth) นอกจากนี้ นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยนั้นยังช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศผ่านการสนับสนุนให้เอกชนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกระดับศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาว[1]
[1] รายละเอียดปรากฎใน Background paper prepared by the ESCAP Secretariat for the High-level Policy Dialogue และในรายงาน U.N. ESCAP: Economic and Social Survey of Asia and the Pacific 2013 (หน้า 24-26)