กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--Ideaworkscommunications
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับ 4 องค์กรหลักด้านการศึกษา ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สานต่ออุดมการณ์สร้างชาติสร้างสังคมนักอ่าน เปิดตัว โครงการ “อ่านสร้างสุขในโรงเรียนและสถานศึกษา” ปีที่ 2 มุ่งให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนอย่างหลากหลาย เหมาะสม และเกิดผลจากการอ่านอย่างมีความสุข รวมถึงการขยายพื้นที่โรงเรียนอ่านสร้างสุขให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
จากความสำเร็จของโครงการ “อ่านสร้างสุขในโรงเรียนและสถานศึกษา ปี 1” ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ เมษายน 2555 ต่อเนื่องมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่องและทดลองศึกษาวิจัยถึงรูปแบบการอ่านสร้างสุขในกลุ่มผู้เรียน ทั้งในและนอกระบบอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสนับสนุนให้ผู้อ่านได้ใช้การอ่านนำไปสู่การสร้างสุขในชีวิต โดยการส่งเสริมให้เกิดการอ่านเพื่อจุดประกายให้ผู้อ่านชอบที่จะอ่าน มีความสุข ความพึงพอใจ เพลิดเพลิน รื่นรมย์ และนำการอ่านไปสร้างความสุขในชีวิตได้
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า กิจกรรมในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากมาย ผู้เข้าร่วมทั้งผู้บริหาร ครูปฏิบัติและแกนนำเยาวชนให้ความสนใจ และนำสิ่งที่เรียนรู้ไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนอย่างหลากหลาย รวมถึงการส่งเสริมการอ่านในบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนและชุมชน ด้วยการดึงครอบครัว ชุมชน นักศึกษา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ฯลฯ มาร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง
“ผลการดำเนินงานจากปีที่แล้ว ส่งผลให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ประยุกต์เข้ากับแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี สามารถบูรณาการการอ่านกับกิจกรรมอื่นๆได้อย่างกลมกลืน เช่น การเล่าเรื่องจากภูมิปัญญา การผลิตสื่อมัลติมีเดีย ในขณะเดียวกันเราสามารถสร้างเครือข่ายชุมชนให้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานมากขึ้น สร้างอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านเพิ่มขึ้นนับพันคน ที่น่าชื่นชมคือความสามารถด้านการอ่าน การเขียนภาษาไทยของนักเรียนดีขึ้น จำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออก หรืออ่านไม่คล่องลดลงมาก ทั้งยัง
ตระหนักและเห็นความสำคัญของการอ่าน มีนิสัยรักการอ่านตลอดจนนำการอ่านไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตถึงร้อยละ 90 ทั้งยังมีวิธีการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถพัฒนาตนเอง และมีนิสัยรักการอ่านเพิ่มขึ้น” ทพ.กฤษดา กล่าว
นอกจากนี้โครงการอ่านสร้างสุขฯ ยังได้จัดการประกวดโรงเรียนส่งเสริมการอ่านและยุวทูตการอ่านดีเด่น ซึ่งปรากฏผล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษา จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลเมืองเชียงราย สพป. เชียงราย เขต 1 ระดับมัธยมศึกษา: โรงเรียนนารีนุกูล 2 สพม. 29 (อุบลราชธานี) และยังควบตำแหน่งยุวทูตการอ่านระดับมัธยมศึกษา โดยมี นางสาววิภาวดี ศิริบูรณ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนระดับประถมศึกษา ได้แก่ เด็กชายปรเมษ คงประพันธ์ จากโรงเรียนบ้านน้ำฉา สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1 นอกจากนั้นยังมีนักเรียนและหน่วยงานการศึกษาอีกมากที่ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจนี้ ทั้งนี้ ติดตามการประกาศผลได้ทาง www.happyreading.in.th
ทพ.กฤษดา กล่าวต่อว่า ในปีนี้ทางโครงการได้ขยายผลสู่ปีที่ 2 ด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานระหว่างสถานศึกษาทั้งในปีที่ 1 และปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 20 — 22 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา และนักเขียนชื่อดังเข้าร่วมสัมมนา อาทิ เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก พร้อมด้วย ฐาวรา สิริพิพัฒน์ (ดร.ป๊อป) เจ้าของงานเขียนวรรณกรรมเยาวชนชุดเดอะไวท์โรด และพัดชา อเนกอายุวัฒน์ ศิลปินนักร้องจากค่าย AF ร่วมพูดคุยกันอย่างออกรส
“ทางสสส. และทั้ง 4 องค์กรร่วมอุดมการณ์ยังคงมุ่งมั่นและตั้งเป้าให้โรงเรียนและสถานศึกษาเกิดความรู้ และมุมมองใหม่ ๆ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อกระตุ้นให้เกิดโรงเรียนอ่านสร้างสุขที่คำนึงถึงศักยภาพของผู้เรียน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนและพื้นที่ใกล้เคียงครอบคลุมทั่วประเทศ” ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตอกย้ำความตั้งใจเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งปัญญา เพื่อนำไปสู่สังคมสุขภาวะต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โทร 02-424-4616