ซิป้าเสริมเขี้ยวเอกชนพร้อมแข่งตลาดAEC รุกปฏิบัติการสัมมนาทั่วไทยเข้าใจลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday May 21, 2013 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--2010 ครีเอชั่น แอนด์ คลีน นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงมูลค่าตลาดการผลิต และบริการซอฟต์แวร์ในปีที่ผ่านมาว่า มีมูลค่ากว่า 34,481 ล้านบาท และในปี2556 ตลาดจะมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีผู้ประกอบการด้าน ICT กว่า 5,000 ราย ด้านนโยบายที่จะสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้พร้อมรับการแข่งขันในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มั่นใจเห็นผลใน 1 ปี มีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม โดย 3 เดือนแรกจะปรับระบบงานภายใน ส่วนช่วง 6 เดือนจากนี้ไป จะเน้นสร้างตลาดภายในประเทศ พร้อมทั้งเร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในด้านต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับแผนระยะยาว ช่วง 12 เดือนจะขยายการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ออกไปทำตลาดในต่างประเทศ ด้านของการสร้างบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีแผนการที่จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องซอฟต์แวร์อย่างจริงจังร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยจะให้น้ำหนักไปกับการเสริมจุดเด่นที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว เพื่อเน้นให้เป็นจุดเด่นที่จดจำได้ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ขณะเดียวกัน SIPA ยังให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ intellectual property (IP) จะพยายามดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในระยะ 12 เดือน ตั้งเป้าจะเน้นให้เกิด IP ทางซอฟต์แวร์ขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่า 20 รายการ และต้องเป็น IP ที่สามารถตีมูลค่าทางพาณิชย์ได้ด้วย ซึ่งงานนี้จะทำควบคู่ไปกับงานส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจซอฟต์แวร์ เช่น การผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมี IP ที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ตลาด MAI เป็นต้น นายไตรฉัตร กล่าวว่า อีกโจทย์ใหญ่คือ เร่งสร้างความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก่อนเข้าสู่ AEC 2015 โดยมีแผนงานดังนี้ มุ่งเน้นการจัดสรรกำลังคนทางด้านซอฟต์แวร์เพื่อรองรับ AEC อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเร่งผลิตบุคลากรคุณภาพด้านซอฟต์แวร์ใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มีการคัดเลือกมาแล้ว คือ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มขนส่ง กลุ่มการแพทย์ กลุ่มการศึกษา การเกษตร กลุ่มอัญมณี อย่างจริงจัง และให้ครบวงจรตั้งแต่การคิดค้นลิขสิทธิ์ใหม่ ไปจนถึงการขายบริการซอฟต์แวร์รูปแบบใหม่ เพื่อที่จะทำให้ประเทศที่จะเข้ามาแข่งขันในอาเซียนไม่สามารถเข้ามาแย่งตลาดบุคลากรในด้านนี้ได้ สำหรับปีนี้ซิป้าได้มีโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและผู้ประกอบการ ใน โครงการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับซอฟต์แวร์ไทย ได้มีการกิจกรรมสัมมนาใหญ่ให้ความรู้ 5 ครั้งในภาคกลาง เหนือ อีสานและใต้ เจาะกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ นักศึกษาในคณะ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น IT , วิทยาศาสตร์ , วิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคล ทั่วไปที่มีความสนใจ วัตถุประสงค์โครงการนี้ เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์เข้าใจถึงการปกป้องสิทธิที่ได้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สามารถมาใช้เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และปรับตัวรองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นจากประเทศอื่นในอาเซียน ให้ผู้ประกอบการเข้าใจในกระบวนการจดแจ้งลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ ที่ตนเองพัฒนาคิดค้นขึ้น จนนำไปสู่การจดลิขสิทธิ์ ผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ ชี้ได้เห็นถึง ผลกระทบของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และผลกระทบในเชิงพาณิชย์ภาพรวมของประเทศ และเพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้พร้อมต่อการเปิดตลาด (Single Market) และขยายตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับการจัดสัมมนาทั้ง 5 ครั้งนั้น จะมีการจัดครั้งแรก เรื่อง "การจัดการทรัพย์สินทางปัญญากับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Intellectual Property management for AEC)” ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม นี้จัดที่ จังหวัดขอนแก่น ครั้งถัดไป 13 มิถุนายน ที่ภาคใต้ หาดใหญ่ และวันที่ 27 มิถุนายน ที่ภูเก็ต ส่วนภาคเหนือจัดในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ จังหวัดพิษณุโลก ภาคกลางจัดในวันที่ 25กรกฎาคม ที่ กรุงเทพฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ