กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ไทยเบฟเวอเรจ
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลตัดสินการประกวด “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 2” ภายใต้หัวข้อ “น้ำแห่งชีวิต” ชิงเงินรางวัล รวม 3,610,000 บาท โดยผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบ “น้ำ ชีวิต ธรรมชาติ” ผลงานของนายชัชวาลย์ วรรณโพธิ์ ได้รับการตัดสินให้คว้ารางวัลช้างเผือก พร้อมรับเงินรางวัล 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ไปครอง
โครงการประกวด ศิลปกรรมช้างเผือก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเฟ้นหาศิลปินที่มีความสามารถทางศิลปะอัน โดดเด่น โดยไม่จำกัดเทคนิค กระบวนการสร้างสรรค์ หรือรูปแบบของผลงาน ศิลปินสามารถแสดงออกถึงทักษะและแนวความคิดเกี่ยวกับน้ำและชีวิตได้โดยอิสระ ในรูปแบบเหมือนจริง (Realistic) และศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative) ทั้งในแง่ของความเหมือนจริงตามธรรมชาติ ความเหมือนจริงเชิงอุดมคติ หรือความเหมือนจริงเชิงสังคม เพื่อให้งานศิลปะร่วมสมัยเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเชิงวัฒนธรรมแก่สังคม
สำหรับหัวข้อประกวดในปีนี้ได้แก่ “น้ำแห่งชีวิต” ซึ่งได้รับความสนใจจากศิลปินทั้งระดับอาชีพและสมัครเล่นส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 145 ชิ้น แบ่งเป็นงานประเภท จิตรกรรม 123 ชิ้นงาน ประติมากรรม 4 ชิ้นงาน และ ภาพพิมพ์ 8 ชิ้น โดยนายนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยเบฟส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ ให้มีเวทีแสดงออกถึงความสามารถทางด้านศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเขียนภาพ เราให้ความสำคัญกับผู้ที่ทุ่มเทกายใจ และใช้ฝีมือในการสร้างผลงานศิลปะอย่างแท้จริง สำหรับโครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือกในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน โดยใช้หัวข้อ “น้ำแห่งชีวิต” ซึ่งมีศิลปินทั้งในระดับอาชีพและสมัครเล่นส่งผลงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ละชิ้นมีความโดดเด่นและหลากหลายในเรื่องของรูปแบบและแนวความคิดต่างๆ เรียกได้ว่ามีผลงานที่เขาตาหลายชิ้นมาก”
สำหรับในปีนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน ประกอบด้วย อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปประยุกต์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ศาสตราจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2551, อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2554, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ,อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ อาจารย์ประจำ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, นายวัชระ ประยูรคำ ประติมากรชื่อดัง และนายธวัชชัย สมคง ศิลปินอิสระและบรรณาธิการนิตยสาร Fine Art และนายนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และศิลปินนักถ่ายภาพ ทั้งนี้ คณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผลงาน “น้ำ ชีวิต ธรรมชาติ” ภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ ของนายชัชวาลย์ วรรณโพธิ์ ได้รับรางวัลช้างเผือก พร้อมเงินรางวัล 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ไปครอง
ส่วนผลงานชื่อ “ถึงบ้าน” ผลงานของ นายศรชัย คงวุ่น ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัล 500,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลรองชนะเลิศจำนวน 5 รางวัล พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 150,000 บาท และรางวัลชมเชยจำนวน 17 รางวัล พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 80,000 บาท รวมเป็นเงินรางวัลทั้งสิ้น 3,610,000 บาท
ด้าน ผศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า “ผลงานที่ผ่านเข้ามาในรอบตัดสิน ทุกชิ้นงานมีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ โดยคณะกรรมการมีความเห็นพ้องร่วมกันให้ผลงาน “น้ำ ชีวิต ธรรมชาติ” ได้รับรางวัลช้างเผือก เนื่องจากเมื่อพิจาณาจากหลายมิติแล้ว ถือเป็นผลงานที่มีความโดดเด่นและลงตัวที่สุด”
ในขณะที่ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2554 กล่าวถึง หัวข้อการประกวดศิลปกรรมช้างเผือกในครั้งนี้ว่า “น้ำแห่งชีวิต” ถือเป็นหัวข้อที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานจะต้องแสดงฝีมือล้วนๆ เป็น Realistic คือทุกอย่างต้องเหมือนจริง หรือมีองค์ประกอบที่เหนือจริง เราอยากให้นักวาดรูปทุกคนได้สนใจในเรื่องของฝีมือ เพราะโดยปกติการแสดงงานศิลปะ ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีฝีมือ ภายหลังจากไทยเบฟจัดการประกวดศิลปกรรมช้างเผือกเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้นักวาดรูปฝึกฝนทักษะฝีมือบวกกับความคิดของตนเอง และจินตนาการมากยิ่งขึ้น จากการกำหนดหัวข้อดังกล่าว ทำให้เราได้คนมีฝีมือมากขึ้นในประเทศไทย บางภาพเหมือนจริงยิ่งกว่ารูปถ่าย หรือในภาษาศิลปะเรียกว่า “ดิบ ดิบ” รูปวาดที่ทางคณะกรรมการมีความเห็นตัดสินให้เป็นผลงานที่ชนะ ล้วนแล้วแต่เป็นรูปที่มีความลึกซึ้ง มีชีวิต และมีจิตวิญญาณ สิ่งต่างๆเหล่านี้คือสิ่งที่เราแสวงหา ดังนั้น การเขียนรูปเหมือนจะต้องเหมือนกว่ารูปเหมือนปกติ โครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก จึงแตกต่างจากการประกวดทั่วไป คือ ให้ความสำคัญในเรื่องของการย้อนกลับไปสู่ความมีฝีมือของนักวาดภาพ”
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลทั้ง 24 ผลงาน จะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 2” และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรี ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.30-21.00 น. ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน — 11 สิงหาคม 2556 ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน สอบถาม โทร. 0-2422-2092, 08-6890-2762 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการ “โครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 2” และพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ ในวันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน