กระทรวงเกษตรฯ เร่งทำต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเป็นรายแปลง พร้อมป้อนข้อมูลสนับสนุนการ โซนนิ่งพื้นที่การเกษตรของประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday May 23, 2013 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เชิญประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้าเกษตรทั้ง 11 คณะ เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการศึกษาวิเคราะห์สินค้าเกษตรเป็นรายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย สับปะรด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวจะทำให้ทราบข้อมูล ในทุกมิติ ทั้งช่วงฤดูการผลิต ปริมาณผลผลิตรายปี ต้นทุนการผลิต จำนวนเกษตรกร พื้นที่ที่มีการผลิตมาก ปริมาณความต้องการในประเทศ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนการผลิตให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยจะนำมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดและจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนแผนการผลิตสินค้าเกษตรตามเขตเกษตรเศรษฐกิจ (โซนนิ่ง) ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐทั้งในระดับภาพรวมและระดับพื้นที่ ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปของผลการศึกษาภายในเดือน 1-2 เดือนนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการเขตเกษตรเศรษฐกิจและคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป นายชวลิต กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงมีข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตรในเรื่องของต้นทุนการผลิต พื้นที่ปลูกหรือช่วงฤดูการผลิต แต่ไม่มีข้อมูลต้นทุนการผลิตเป็นรายแปลงหรือรายครัวเรือน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกของการผลิตสินค้าเกษตรเป็นรายแปลง เมื่อเกษตรกรต้องการเพาะปลูกหรือผลิตสินค้าเกษตรชนิดใดข้อมูลจากคณะอนุกรรมการฯ 11 คณะจะสามารถสนับสนุนความต้องการทำการเกษตรของเกษตรกรได้อย่างชัดเจนว่า พืชชนิดใดควรปลูกหรือไม่ หรือตลาดต้องการสินค้าเกษตรประเภทใด ควรเพิ่มหรือลดการผลิตอย่างไร ซึ่งเมื่อมีข้อมูลรายแปลงหรือครัวเรือนที่ชัดเจนแล้วจะสามารถวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ได้มากขึ้น "สิ่งสำคัญที่คณะอนุกรรมการฯจะต้องเร่งดำเนินการศึกษาวิเคราะห์คือการทราบต้นทุนที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่มากที่สุด ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์และทำให้ทราบว่าคุ้มหรือไม่คุ้มที่เกษตรกรจะปลูกพืชใดชนิดหนึ่งหรือทำการเกษตรประเภทใด ที่เหมาะสมกับพื้นที่และภูมิภาค ขณะเดียวกันก็เป็นการผลิตสินค้าเกษตรที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย ทำให้การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง" นายชวลิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ