กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เป็น ‘AAA(tha)’ จาก ‘AA+(tha)’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term IDR) และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) ที่ ‘BBB-’ พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตในประเทศของ IBANK ที่ ‘AA(tha)’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดอันดับเครดิตอื่นแสดงไว้ในส่วนท้าย
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวของ SME Bank สะท้อนถึงการที่ฟิทช์ได้มีการทบทวนความสำคัญของธนาคารต่อรัฐบาลในการสนับสนุนนโยบายรัฐ ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เข้ามาดูแลสภาพคล่องของธนาคารใกล้ชิดมากขึ้น และมีการให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องแก่ธนาคาร ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปได้สูงที่ SME Bank จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
การคงอันดับเครดิตของ IBANK สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ IBANK จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ถึงแม้ว่าแนวโน้มของการที่ IBANK จะได้รับการสนับสนุนจะน้อยกว่าธนาคารรัฐอื่นที่จัดอันดับโดยฟิทช์ เนื่องจาก IBANK มีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงจากภาครัฐที่ต่ำกว่าและมีการระบุถึงการสนับสนุนที่รัฐบาลจะให้กับ IBANK ในพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารที่ชัดเจนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่น
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต — IDRs อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ และอันดับเครดิตในประเทศ
อันดับเครดิตในประเทศของ SME Bank มีปัจจัยพื้นฐานมาจากการที่ธนาคารมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีสถานะทางกฎหมายเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงบทบาทหน้าที่ของธนาคารในการสนับสนุนนโยบายรัฐและความสำคัญในเชิงกลยุทธต่อรัฐบาล นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอาจพิจารณาชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคาร หากธนาคารได้รับความเสียหายเนื่องจากการดำเนินธุรกิจตามนโยบายรัฐในการให้การสนับสนุนแก่กลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ ฟิทช์เชื่อว่าแนวโน้มที่ SME Bank จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่มีความแตกต่างจากธนาคารรัฐอื่นที่มีอันดับเครดิตเทียบเท่าประเทศไทย
อันดับเครดิตของ IBANK มีปัจจัยพื้นฐานมาจากการที่ฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล IBANK ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของรัฐบาล ก็มีบทบาทหน้าที่เฉพาะในการปฏิบัติตามนโยบายรัฐในการให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามแก่ประชาชนไทยและธุรกิจในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ IBANK อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของ SME Bank และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นอีก 2 แห่งที่ฟิทช์มีการจัดอันดับเครดิตไว้ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (‘AAA(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (‘BBB+’/‘AAA(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) โดยอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าของ IBANK เกิดจากการที่ธนาคารมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงจากภาครัฐที่ต่ำกว่า (จำกัดไว้ไม่เกิน 49%) การระบุถึงการสนับสนุนที่รัฐบาลจะให้กับ IBANK ในพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารมีความชัดเจนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งอื่น รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของธนาคารในการสนับสนุนนโยบายรัฐและความสำคัญในเชิงกลยุทธต่อรัฐบาลที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งอื่น นอกจากนี้ การดำรงสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐใน IBANK ยังมีความไม่แน่นอนในอนาคต
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของทั้ง SME Bank และ IBANK สะท้อนถึงความคาดหมายของฟิทช์ที่เชื่อว่ารัฐบาลจะยังคงให้การสนับสนุนกับธนาคารอย่างต่อเนื่อง หากมีความจำเป็น
ทั้ง SME Bank และ IBANK ได้รับการสนับสนุนในการเพิ่มทุนจากรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มทุนมีความล่าช้าจนทำให้ธนาคารรัฐทั้ง 2 มีอัตราส่วนเงินทุนต่ำกว่าระดับขั้นต่ำที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ ซึ่งอัตราส่วนเงินทุนที่ต่ำดังกล่าวได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ การสนับสนุนในด้านสภาพคล่องจากภาครัฐที่ให้แก่ธนาคารรัฐทั้ง 2 ยังคงมีความแข็งแกร่ง
กระทรวงการคลังได้ให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องแก่ทั้ง SME Bank และ IBANK โดยกระทรวงการคลังทำการบริหารจัดการเงินฝากจากภาครัฐต่างๆ รวมถึงการที่ธนาคารรัฐที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งได้ให้การสนับสนุนทางด้านวงเงินเสริมสภาพคล่องแก่ SME Bank และ IBANK ธนาคารรัฐทั้ง 2 คาดว่าจะได้รับการเพิ่มทุนในจำนวนที่มีนัยสำคัญจากทางภาครัฐในปลายปี 2556 หรือต้นปี 2557 หากธนาคารสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ โดย SME Bank ได้รับการเพิ่มทุนในจำนวนที่ไม่มากนักในเดือนมีนาคม 2556 ในขณะที่ IBANK คาดว่าเงินเพิ่มทุนในจำนวนที่ไม่มากนักจะได้รับในเดือนมิถุนายน 2556
คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอเป็นความท้าทายหลักของทั้ง SME Bank และ IBANK ทั้งนี้ ธนาคารรัฐทั้ง 2 กำลังดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะลดระดับหนี้ด้อยคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อและการติดตามหนี้
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — IDRs อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำและอันดับเครดิตในประเทศ
ในส่วนของ SME Bank อันดับเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบ หากมีการมองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐอ่อนแอลง ซึ่งอาจเกิดจากการแก้ไขกฎหมาย หรือการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายและสัดส่วนการถือหุ้น รวมทั้งหากบทบาทหน้าที่ของธนาคารลดลง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิด เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการ SME ยังคงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และธนาคารยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ SME มีฐานะการเงินอ่อนแอและยังไม่สามารถรับบริการทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ได้
ในส่วนของ IBANK การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของประเทศจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ IBANK การเพิ่มขึ้นของความเป็นได้ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งบ่งชี้จากการที่รัฐมีการถือหุ้นโดยตรงในธนาคารเพิ่มขึ้น หรือมีการระบุถึงการสนับสนุนที่รัฐบาลจะให้กับ IBANK ชัดเจนขึ้น อาจส่งผลทางบวกต่ออันดับเครดิตของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น เนื่องจากต้องมีการแก้พระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารรวมทั้งความตั้งใจแรกเริ่มของรัฐบาลที่จะจำกัดการถือหุ้นโดยตรงใน IBANK
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
SME Bank
- อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวปรับเพิ่มเป็น ‘AAA(tha)’ จาก ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
IBANK
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F3’
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BBB-’
- อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’