ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท “บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น” ที่ระดับ “BBB-/Negative”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 23, 2013 14:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาทของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB-” โดยแนวโน้มยังคง “Negative” หรือ “ลบ” ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหนี้มีหลักประกันที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยอันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจร ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการตลาดในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) และธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก รวมทั้งการที่บริษัทมีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ให้บริการภายใต้เทคโนโลยีที่หลากหลาย และความคาดหวังว่าผู้ถือหุ้นใหญ่จะให้การสนับสนุนแก่บริษัท อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก ตลอดจนความไม่แน่นอนของกฎระเบียบด้านโทรคมนาคมและคดีฟ้องร้องที่ยังไม่สิ้นสุด ความเสี่ยงจากการขยายการลงทุนที่รวดเร็วในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการที่บริษัทมีภาระหนี้จำนวนมาก ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนอัตราส่วนกำไรที่อ่อนแอลงและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสัมปทาน 2 จีที่จะหมดอายุในปี 2556 อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทมีแนวโน้มไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2557 หรือสถานะทางธุรกิจของบริษัทได้รับผลกระทบเชิงลบจากการสิ้นสุดของสัมปทาน 2 จี อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาที่ “Stable” หรือ “คงที่” หากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทได้ในระยะยาว และโครงสร้างเงินทุนของบริษัทมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวดีขึ้น บริษัททรู คอร์ปอเรชั่นเป็นผู้นำในการให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรของประเทศ ธุรกิจหลักของบริษัททั้ง 3 กลุ่มซึ่งประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจโครงข่ายสายสัญญาณ (Wireline) ซึ่งดำเนินงานโดยทรูออนไลน์ กลุ่มธุรกิจไร้สาย (Wireless) หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ทรูมูฟ และทรูมูฟ เอช ซึ่งดำเนินงานโดยทรูโมบาย และกลุ่มธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) โดยทรูวิชั่นส์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในสัดส่วน 25% 65% และ 10% ตามลำดับ บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็งในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากการมีเครือข่ายที่ครอบคลุมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทยังสะท้อนถึงการเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่ที่สุด รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลำดับที่ 3 ในประเทศ นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์จะให้การสนับสนุนแก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศไทยที่มีการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย และมีสัดส่วนถือหุ้นในบริษัทประมาณ 65% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บริษัทได้ขยายการลงทุนในโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จีอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2554 ส่งผลให้กลุ่มทรูโมบายมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 2.72 หมื่นล้านบาทในปี 2554 มาเป็น 3.12 หมื่นล้านบาทในปี 2555 โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 กลุ่มทรูโมบายมีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 8.5 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนด้านโครงข่ายและค่าใช้จ่ายในการเพิ่มผู้ใช้บริการปรับสูงขึ้นมากเช่นกัน ส่งผลให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงหากความสามารถในการสร้างกระแส เงินสดของบริษัทไม่ปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดในระยะปานกลาง นอกจากนี้ กลุ่มทรูโมบายยังมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท) จะหมดอายุลงในเดือนกันยายนปี 2556 โดยที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงว่าการหมดอายุของสัมปทานดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการให้บริการลูกค้าในระบบ 2 จีของบริษัท รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับบริษัทในการนำคลื่น 1800 MHz กลับมาให้บริการ และต้นทุนในการให้บริการบนโครงข่าย 2 จี ซึ่งจะอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของ กสท ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณตัวเลขหนึ่งหลักในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยรายได้จากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการด้านข้อมูลจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2556 อยู่ที่ 19.8% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรดังกล่าวจะยังคงได้รับแรงกดดันด้านการแข่งขันในปี 2556 และน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2557 หลังจากที่บริษัทได้โอนย้ายผู้ใช้บริการจำนวนพอสมควรไปยังโครงข่าย 3 จีซึ่งมีต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับภาครัฐต่ำกว่า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงมากในช่วงปี 2556-2557 เนื่องจากบริษัทยังคงมีความต้องการเงินกู้เพื่อขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และโครงข่ายเคเบิลอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง นอกจากนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2556-2558 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้าก็คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเงินทุนจากการดำเนินงาน ทำให้มีโอกาสน้อยที่บริษัทจะสามารถลดภาระหนี้ได้ในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเพิ่มภาระหนี้พร้อมกับการเพิ่มทุนเพื่อรักษาโครงสร้างเงินทุนและสภาพคล่องไม่ให้อ่อนแอลงไปกว่าระดับปัจจุบัน อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นเนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนหนี้มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวมอยู่ในระดับสูง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) อันดับเครดิตองค์กร: BBB อันดับเครดิตตราสารหนี้: TRUE13NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 BBB- TRUE144A: หุ้นกู้มีประกัน 6,183 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB TRUE144B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB- TRUE151A: หุ้นกู้มีประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB TRUE16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB- TRUE174A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 7,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB- หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 BBB- แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ