กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือ กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมโคทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยกระดับคุณภาพนมไทยทัดเทียมมาตรฐานต่างชาติ ก่อนเข้าสู่ AEC
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมโคเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ระหว่าง กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และกลุ่มบริษัทดัชมิลล์ ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมในฟาร์มโคนม ในด้านปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งมีมาตรฐานการผลิตน้ำนมที่ดี ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เมื่อเข้าสู่การเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของเกษตรกร โคนมและอุตสาหกรรมนมไทย ให้มีเสถียรภาพ สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนมไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดยข้อตกลงดังกล่าว จะเริ่มต้นดำเนินการทันทีไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งจะเป็นการกำหนดเริ่มต้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อตกลงความร่วมมือได้ครอบคลุมการดำเนินการนำร่องโครงการในกลุ่มเกษตรกรฟาร์มโคนมที่เข้าร่วมคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับดัชมิลล์รวมทั้งสิ้น 3,587 ฟาร์มจากศูนย์รับน้ำนมดิบ 18 แห่ง สหกรณ์ /ศูนย์รวบรวมน้ำนมโคที่ส่งนมให้แก่กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ โดยมีเป้าหมายข้อตกลงความร่วมมืออย่างชัดเจนใน 4 ด้าน คือ 1. พัฒนาปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบ /ตัว/ วัน ให้เพิ่มขึ้นจาก 13 กก. เป็น 15 กก. ภายใน 3 ปี 2.พัฒนาคุณภาพน้ำนมโคให้มีจำนวนเซลล์โซมาติกไม่เกิน 500,000 เซลล์/มิลลิลิตร และแบคทีเรียไม่เกิน 500,000 โคโลนี/มิลลิลิตร 3.ศูนย์รวบรวมน้ำนมทุกศูนย์ในพื้นที่ดำเนินการผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP และ 4.พัฒนาฟาร์มเกษตรกรที่ผ่านการรับรอง GAP ให้เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70
โดยกรมปศุสัตว์ จะดำเนินการให้คำแนะนำและจัดอบรมการจัดการพืชอาหารสัตว์ อบรมการจัดการฝูงโคนมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (โปรแกรม DHI) จัดหน่วยโคนมเคลื่อนที่ให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินการ ตลอดจนให้คำแนะนำและอบรมเกษตรกรเพื่อพัฒนาฟาร์มเข้าสู่มาตรฐาน GAP ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จะวางแผนสนับสนุนเงินทุนให้แก่สหกรณ์เพื่อพัฒนาฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในการปรับปรุงฟาร์มเข้าสู่มาตรฐาน GAP ส่วนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จะดำเนินการด้านจัดอบรมหลักสูตรการเลี้ยงโคนมสำหรับเกษตรกรรายใหม่และหลักสูตรเฉพาะสำหรับเพิ่มเติมความรู้ให้เกษตรกร
“บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมโคในครั้งนี้ จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรฟาร์มโคนมและยกระดับมาตรฐานศูนย์รวบรวมน้ำนมให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยการเข้าสู่ เออีซี ในปี 2558 จะส่งผลให้มีการเปิดเสรีทางการค้าในด้านต่างๆ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับอุตสาหกรรมโคนมไทยที่จะต้องเร่งปรับตัว และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตนมทั้งระบบ เพื่อให้คุณภาพของนมไทยทัดเทียมคุณภาพของนมต่างประเทศ อีกทั้งจะต้องลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลง และได้ผลผลิตมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพในด้านการผลิต ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกรโคนม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมนมโคของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานในตลาดโลกได้” นายชวลิตกล่าว