แถลงผลการประชุม กสทช. วันที่ 22 พฤษภาคม 2556

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 23, 2013 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สำนักงาน กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงผลการประชุม กสทช. ครั้งที่ 5/2556 วันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2556 ว่า ที่ประชุม กสทช. ได้มีการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. และการพิจารณาเรื่องอื่นๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. ที่ประชุม กสทช. ได้เห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. .... โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แล้วนำผลกลับมาให้ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติที่จะมีขึ้นตามกรอบเวลาของแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยเป็นไปตาม (ร่าง) ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ เพื่อการประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกรอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับทั้งกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ร่างประกาศฯ ที่ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบนั้นมีสาระสำคัญดังนี้ 1.1 คลื่นความถี่ที่จะอนุญาตให้ใช้เป็นคลื่นความถี่ตามแผนความถี่วิทยุ โดยแบ่งหมวดหมู่การให้บริการ ได้แก่ 1) เด็ก เยาวชน แลครอบครัว 2) ข่าวสารและสาระ 3) ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ 4) ทั่วไปแบบความคมชัดสูง 1.2 ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม (ร่าง) ประกาศฯ ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เกินรายละหนึ่งใบอนุญาตของแต่ละหมวดหมู่ และมีสิทธิยื่นคำขอหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูงหรือหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ หมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งเท่านั้น 1.3 ราคาขั้นต่ำ ราคาเริ่มต้น และการเสนอเพิ่มราคา โดยให้เป็นไปตามผลการศึกษาการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอมา ซึ่งมีราคาตั้งต้นของการประมูล ดังนี้ 1) ช่องรายการทั่วไป HD (7) มูลค่าต่ำสุด 1,510 ล้านบาท 2) ช่องรายการทั่วไป SD (7) มูลค่าต่ำสุด 380 ล้านบาท 3) ช่องรายการข่าว SD (7) มูลค่าต่ำสุด 220 ล้านบาท 4) ช่องรายการเด็ก SD (3) มูลค่าต่ำสุด 140 ล้านบาท สำหรับการกำหนดจำนวนเงินสำหรับการเสนอเพิ่มราคานั้น มีรายละเอียดดังนี้ 1) หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว กำหนดให้การเสนอเพิ่มราคาครั้งละ 1 ล้านบาท 2) หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ กำหนดให้การเสนอเพิ่มราคาครั้งละ 2 ล้านบาท 3) หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ กำหนดให้การเสนอเพิ่มราคาครั้งละ 5 ล้านบาท 4) หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง กำหนดให้การเสนอเพิ่มราคาครั้งละ 10 ล้านบาท 1.4 การเข้าร่วมประมูล เป็นการดำเนินการเพื่อรับสิทธิ ดังต่อไปนี้ 1) การใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ 2) การเลือกหมายเลขลำดับการให้บริการในแต่ละหมวดหมู่ โดยเรียงลำดับผู้ชนะการประมูล ในกรณีที่ชนะการประมูลด้วยราคาเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก 3) การเลือกใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ให้เลือกโดยผู้ชนะการประมูลที่มีราคาสูงสุดเรียงตามลำดับของทุกหมวดหมู่รวมกัน ในกรณีที่ชนะการประมูลด้วยราคาเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก 1.5 การประมูลจะแยกตามหมวดหมู่ที่กำหนด โดยแต่ละคราวมีระยะเวลา 60 นาที เมื่อเริ่มการประมูลผู้เข้าร่วมจะต้องเสนอราคาครั้งแรกภายใน 5 นาที มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิแลถูกริบหลักประกัน โดยในระหว่างการประมูล ผู้เข้าร่วมจะทราบสถานะและลำดับการมีสิทธิเป็นผู้ชนะ รวมถึงราคาต่ำสุดของกลุ่มผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล แลเมื่อการประมูลสิ้นสุดลง ถ้ามีผู้ชนะการประมูลเสนอราคาเท่ากันเกินกว่าจำนวนใบอนุญาตให้ขยายเวลาการประมูลออกไปอีกครั้งละ 5 นาที ซึ่งในกรณีที่ขยายระยะเวลาแล้วและไม่มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นให้ดำเนินการหาผู้ชนะด้วยวิธีจับสลาก 1.6 การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนของราคาขั้นต่ำ ให้แบ่งชำระเป็น 4 งวด และส่วนที่สองจะเป็นเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ ให้แบ่งชำระเป็น 6 งวด ซึ่งผู้ชนะการประมูลแต่ละราย จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเท่ากับราคาที่ตนชนะการประมูล 1.7 ผู้ชนะการประมูลที่ได้รับสิทธิให้เป็นผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนจึงจะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ คือ 1) ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่งวดที่หนึ่ง 2) ดำเนินการขอใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์กับผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล 3) ดำเนินการตามประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าสละสิทธิ์การขอรับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1.8 ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลมีอายุสิบห้าปี 2. ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและเห็นชอบต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 โดยหลังจากนี้จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 15/2556 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ดังนี้ 2.1 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการออกเครื่องหมายแสดงการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน 2.2 ขอให้อนุญาตติดเครื่องหมายแสดงการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานได้จากโรงงาน 2.3 การจำแนกประเภทของการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของแต่ละอุปกรณ์ 2.4 ควรกำหนดให้ข้อกำหนดทางเทคนิคบางลักษณะที่มีความสำคัญและอาจกระทบต่อผู้บริโภคต้องตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบงานเท่านั้น 3. ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม โดยหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27(8) กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่กำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดอัตราค่าใช้หรือค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงาน กสทช. ได้นำประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 มาพัฒนาเป็นร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าว โดยได้มีการปรับปรุงรายละเอียดทางเทคนิคให้ทันสมัย เพื่อให้รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และยังได้ปรับปรุงรายละเอียดวิธีการคำนวณตามข้อมูลที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ผ่านมาเพื่อให้สามารถใช้ตรวจสอบอัตราตอบแทนฯ ที่ผู้รับใบอนุญาตฯ เสนอมาในข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ร่างประกาศดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ได้อีก เช่น ใช้คำนวณอัตราค่าตอบแทนฯ ชั่วคราว เพื่อใช้กำกับดูแลในกรณีที่การคำนวณอัตราค่าตอบแทนฯ ยังไม่แล้วเสร็จ หรือใช้คำนวณอัตราค่าตอบแทนฯ อ้างอิงเพื่อนำไปใช้กรณีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างผู้รับใบอนุญาตฯ หรือใช้คำนวณอัตราค่าตอบแทนฯ กลางซึ่งเป็นอัตราเดียวกันหมดทั้งอุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ในกรณีอื่นตามที่ กสทช. เห็นสมควร 4. ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแพร่เสียงแพร่ภาพรายการกีฬาที่สำคัญ พ.ศ. .... ฉบับปรับปรุงแก้ไขหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยหลังจากนี้จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ สาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว คือรายการสำคัญ 7 รายการ ได้แก่ 1. รายการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2.รายการแข่งขันคอนเฟเดอเรชั่นคัพ 3.รายการแข่งขันเอเชี่ยนคัพนัดสุดท้าย และนัดที่มีทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน 4.รายการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก และฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 5.รายการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงแชมป์โลก 6.รายการวอลเล่ย์บอล ระดับชิงแชมป์โลก 7.รายการแข่งขันเทนนิสเดวิสคัพ นัดที่มีตัวแทนจากชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน ผู้ประกอบกิจการที่ได้สิทธิในการแพร่ภาพรายการ จะต้องจัดทำข้อเสนอบริการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายอื่นสามารถเลือกที่จะเข้าเจรจาเพื่อนำสิทธิในการแพร่เสียงแพร่ภาพของรายการดังกล่าวไปให้บริการประชาชนรับชมได้อย่างแพร่หลาย
แท็ก กสทช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ