กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์
นักพิพิธภัณฑ์รุ่นใหม่ไอเดียเก๋ ชวนคนไทยเจาะใจแมลงสาบ กับนิทรรศการ “มา แล สาบ” มองแมลงสาบแล้วย้อนมองตัวเอง ผลงานชนะเลิศ จาก Young Muse Project โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยามครั้งที่ 3 นิทรรศการกู้โลกแนวแปลก ตีแผ่วิถีชีวิตแมลงสาบจอมซ่าส์ฆ่าไม่ตาย อยู่ง่าย กินง่ายทุกสภาพแวดล้อม สะท้อนหนทางคลายทุกข์-สร้างสุขที่มนุษยชาติควรปฏิบัติตาม
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) และ มิวเซียมสยาม แถลงข่าวเปิดนิทรรศการ “มา แล สาบ” มองแมลงสาบแล้วย้อนมองตัวเอง ผลงานชนะเลิศจาก โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 3 หรือ Young Muse Project ปฏิบัติการค้นหาและพัฒนานักพิพิธภัณฑ์รุ่นใหม่ เพื่อสานต่อและขับเคลื่อนงานด้านพิพิธภัณฑ์ พร้อมกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ นำไปสู่การต่อยอดทางความคิดเพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์ รวมถึงกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับสังคมแห่งการเรียนรู้ยุคปัจจุบัน โดยได้รับเกียรติจาก นายสมชัย ส่งวัฒนา ประธานอนุกรรมการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. เป็นประธานเปิดนิทรรศการ
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม หรือ Young Muse Project ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งแนวคิดในการจัดงานยังมุ่งเน้นการปั้นนักพิพิธภัณฑ์รุ่นใหม่ โดยจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนทั้งชายและหญิงที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วม แคมป์ “Young Muse Project” เพื่อฝึกทักษะการลำดับประเด็นความรู้ทางวิชาการ ผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล กระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ที่จะจัดขึ้นในนามของมิวเซียมสยาม
“นิทรรศการครั้งนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนักศึกษาทีม ARUBA จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้โจทย์กู้โลก โดยเป็นการนำรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ซึ่งอาศัยอยู่บนโลกที่กำลังอยู่ยากขึ้นทุกวัน มาเปรียบเทียบกับการดำเนินชีวิตของแมลงสาบที่ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคก่อนดึกดำบรรพ์ ซึ่งสามารถปรับตัวเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์ความเลวร้ายต่างๆ มาได้จนถึงปัจจุบัน เป็นการนำมนุษย์และแมลงสาบมาเปรียบเทียบกันทั้งในเชิงขบขัน เสียดสี และประชดประชัน แต่แฝงไว้ด้วยแง่คิดดีๆ ที่จะทำให้ผู้ชมนิทรรศการทุกคนเกิดมุมมองใหม่ในการใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขมากกว่าเดิม” ผอ.ราเมศ อธิบาย
ทีม ARUBA ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ นายธนากร ลีระมาศ นายพิชญ์ อำนวยพร และ นายอนุรักษ์ จันทร์ดำ ทั้งหมดกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ชั้นปีที่ 3 โดยแรงบันดาลใจในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ เกิดจากการได้ร่วมงานครีเอทีฟเสวนา ปีที่ 3 ที่จัดขึ้นใน หัวข้อ ทางออกของความคิด “คิดไม่ออก คิดไม่ได้ คิดไม่โดน” ทำให้เกิดกระบวนการคิดที่แตกต่างออกไป
นายธนากร ลีระมาศ อธิบายว่า จากโจทย์ที่ได้รับในหัวข้อกู้โลก ทุกคนในทีมก็คิดถึงแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น และรู้ดีว่าทีมอื่นก็คงคิดเหมือนกัน แต่เมื่อได้ฟังคำแนะนำจากวิทยากรในงานครีเอทีฟเสวนาว่า การที่คิดค้นวิธีแก้ปัญหาไม่ได้ เกิดจากการตั้งโจทย์ไม่ถูกต้อง ซึ่งกระทบต่อการหาคำตอบด้วย
“เมื่อได้ฟังคำแนะนำของวิทยากรจากงานครีเอทีฟเสวนา เราได้พยายามวิเคราะห์โจทย์ใหม่อีกครั้งและได้คำตอบว่า การกู้โลก อาจไม่ใช่การมุ่งทำให้โลกหายร้อน ทำให้ภัยพิบัติหมดไป หรือทำให้ต้นไม้มากขึ้น แต่กลับเป็นการปรับตัวเองให้สามารถอยู่กับโลกที่เป็นอยู่ได้นานที่สุด” นายธนากร อธิบาย
ด้าน นายพิชญ์ อำนวยพร เปิดเผยว่า จากการค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นทางอินเทอร์เน็ตทำให้รู้ว่าแมลงสาบเป็นสัตว์ที่มีการปรับตัวได้ดีที่สุดชนิดหนึ่ง จึงค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดนิทรรศการ ซึ่งพบว่าแมลงสาบเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เกิดขึ้นก่อนไดโนเสาร์ แม้จะเกิดภัยพิบัติล้างโลก แต่แมลงสาบมีวิวัฒนาการและปรับตัวเองให้สามารถอยู่รอดได้ในทุกภาวะวิกฤต
“เราใช้ประเด็นเรื่องการปรับตัวของแมลงสาบให้มีชีวิตรอด เป็นประเด็นหลักของการจัดนิทรรศการ แล้วนำลักษณะการดำเนินชีวิตของมันมาเปรียบเทียบกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในเชิงขบขัน ประชดประชันเล็กๆ เช่น แมลงสาบกินเพื่ออยู่ แต่คนมักอยู่เพื่อกิน ทำให้ต้องเลือกเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบ หากไม่ได้กินของอร่อยที่ชอบก็เกิดความทุกข์ตามมา จนในที่สุดต้องเบียดเบียนโลก ด้วยการขับรถออกไปหาซื้อสิ่งที่ต้องการ เป็นต้น ถือเป็นการเปรียบเทียบเชิงปรัชญาแบบไม่อิงหลักการ” นายพิชญ์ กล่าว
ด้าน นายอนุรักษ์ จันทร์ดำ สมาชิกคนสุดท้ายอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อสามารถกำหนดเนื้อหานิทรรศการที่น่าสนใจได้แล้ว ก็ต้องคำนึงถึงเทคนิคการนำเสนอด้วย โดยได้รับคำแนะนำจากนักพิพิธภัณฑ์รุ่นพี่ว่า ทั้งตัวหนังสือ ภาพ และเทคนิคทันสมัยที่จะนำมาใช้ ไม่ควรมีสิ่งใดที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป แล้วการนำแมลงสาบมาเป็นพระเอกของเรื่อง ก็ต้องคิดวิธีนำเสนอที่ช่วยลดความน่าเกลียดน่ากลัวลงได้ด้วย
“นิทรรศการครั้งนี้ต้องการให้คนมาดูวิถีชีวิตของแมลงสาบ การเลือกใช้สื่อ และการตกแต่งห้องนิทรรศการจึงใช้สีสันสดใสสะอาดตา รวมถึงได้ใช้เทคนิคการนำเสนอแบบ 3D Video Mapping เป็นเครื่องมือเล่าเรื่องที่จะช่วยให้เกิดความสนุกสนานตื่นเต้น เด็กๆ สามารถเข้าใจ และง่ายต่อการจดจำ โดยการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนสนใจศึกษาหาความรู้จากพิพิธภัณฑ์มากยิ่งขึ้น เพราะทุกคนจะสนุกสนานไปกับบรรยากาศรอบด้าน ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายอนุรักษ์กล่าวสรุป
นิทรรศการ “มา แล สาบ” มองแมลงสาบแล้วย้อนมองตัวเอง มีกำหนดจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ ถึงวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2556 โดยทีม ARUBA รับประกันว่า “มา แล สาบ” เป็นนิทรรศการที่จะทำให้ผู้ชมอยู่บนโลกที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน ได้อย่างมีความสุข ด้วยการเรียนรู้จาก “แมลงสาบ” ผู้ที่อาวุโสที่สุดบนโลก…ในบ้านคุณ
ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2556 เวลา 10.00 — 18.00 น. ที่มิวเซียมสยาม สนามไชย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-225-2777 ต่อ 411 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.org