74% ของธุรกิจไทยต้องการคำแนะนำด้านภาษีแม้ว่ามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 68% แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ ASEAN ที่ 86%

ข่าวทั่วไป Monday May 27, 2013 08:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--Grant Thornton บริษัทส่วนใหญ่ระบุว่ายินดีที่จะให้เจ้าหน้าที่ทางด้านภาษีช่วยแนะนำการวางแผนทางภาษีที่ครอบคลุมในต่างประเทศว่าสิ่งใดสามารถกระทำได้หรือไม่ได้ แม้ว่าจะทำให้โอกาสในการลดหย่อนภาระทางภาษีในต่างประเทศลดลงก็ตาม โดยเป็นข้อมูลล่าสุดจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) ซึ่งเป็นการสำรวจรายไตรมาสเกี่ยวกับทัศนคติของผู้นำธุรกิจกว่า 3,000 แห่งจาก 44 ประเทศ รายงาน IBR เปิดเผยว่า 2 ใน 3 (68%) ของธุรกิจทั่วโลกต้องการคำแนะนำทางด้านการวางแผนภาษี อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจจากแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างอย่างชัดเจน โดย 75% ของธุรกิจในกลุ่มยูโรโซนมีความต้องการคำแนะนำทางด้านภาษี ในขณะที่มีเพียง 54% ของธุรกิจในอเมริกาเหนือที่ต้องการ ทางด้านประเทศไทย (74%) มีการตอบรับที่สูง กว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการคำแนะนำทางด้านการวางแผนภาษีในภูมิภาค ASEAN (86%) โดยรวม ส่วนธุรกิจในละตินอเมริกา (85%) มีแนวโน้มสูงกว่าเอเชียแปซิฟิก (67%) มร. เอ็ดเวิร์ด สเตราส์ กรรมการฝ่ายให้คำปรึกษาทางด้านภาษี แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า "การลดภาระทางภาษีในต่างประเทศเป็นการช่วยประหยัดภาษีได้อย่างมาก ดังนั้น การที่เห็นเจ้าของธุรกิจต้องการแนะนำการวางแผนทางภาษีที่ครอบคลุมในต่างประเทศจึงเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ Amazon, Google และ Starbucks ซึ่งมีการวางแผนทางภาษีอย่างถูกต้องได้ปรับเปลี่ยนมุมมองของคนทั่วไปเกี่ยวกับความสำคัญของการวางแผนทางภาษีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเนื่องจาก AEC ใกล้เข้ามาทุกขณะ ซึ่งความเชื่อมโยงผ่านระบบ Supply chain ในระดับภูมิภาคจะได้รับการพัฒนา ดังนั้นการวางแผนทางภาษีจะมีความสำคัญยิ่งขึ้นต่อภูมิภาคของเรา” ผลการสำรวจจากรายงาน IBR ยังนำเสนอว่าเจ้าของธุรกิจในประเทศไทยมีทัศนคติที่แตกต่างจากเจ้าของธุรกิจในทั่วโลกซึ่งมองในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ถึงสิ่งที่กลุ่มเศรษฐกิจของตนจะได้รับจากระบบภาษีที่กำหนดไว้ โดยธุรกิจทั่วโลกเพียง 31% กล่าวว่ากฎหมายและนโยบายทางภาษีในประเทศของตนได้รับการวางแผนเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนในประเทศไทย ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับที่ดีกว่าที่ 58% แม้ว่าจะอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ ASEAN ที่ 70% ส่วนเจ้าของธุรกิจในยุโรปตอนใต้ (11%) และละตินอเมริกา (23%) ไม่พอใจกับโครงการที่นำภาษีของตนไปใช้จ่ายลงทุน นอกจากนี้ บริษัทไทยยังรับได้กับการกระจายฐานภาษีของประเทศมากกว่าภูมิภาคอื่นเล็กน้อย โดย 49% ของเจ้าของธุรกิจทั่วโลกและ 46% ใน ASEAN เชื่อว่าฐานภาษีในปัจจุบันยังไม่ได้ครอบคลุมผู้ที่ควรอยู่ในระบบเศรษฐกิจเท่าที่ควร ส่วนในประเทศไทย ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 30% ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่ยังบ่งชี้ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของธุรกิจไทยต้องการให้มีการขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ในการนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่อยู่ในอันดับสูงที่สุดที่เชื่อว่าระบอบภาษีในประเทศของตนนั้นกระจายความมั่งคั่งกลับไปในระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีธุรกิจเพียง 10% ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งแตกต่างจากค่าเฉลี่ยของ ASEAN (39%) และทั่วโลก (41%) ที่ธุรกิจเชื่อว่าระบอบภาษีของตนไม่ได้ส่งเสริมการกระจายความมั่งคั่งอย่างมีประสิทธิภาพ มร. สเตราส์ กล่าวว่า "หลายกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วทั่วโลกกำลังประสบกับการปรับลดค่าใช้จ่ายทางการคลัง และเจ้าของธุรกิจกำลังเผชิญกับการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นแม้ว่ายังไม่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนัก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข่าวดีคือการที่เจ้าของธุรกิจสนับสนุนการกระจายความมั่งคั่งจากภาษีที่จัดเก็บได้ และด้วยการที่อัตราภาษีสำหรับนิติบุคคลได้รับการปรับลดลง ประกอบกับที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่เราอยู่ในสถานะที่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก”
แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ