กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--สำนักงาน กปร.
“การได้ทำงานสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต และได้มีโอกาสติดตามเสด็จฯ ได้รับรู้ถึงการทรงงานหนักของพระองค์ ทำให้เราต้องมุ่งมั่นทำงานให้มากยิ่งขึ้น แม้เหนื่อยยากขนาดไหน ผมเชื่อว่าไม่มีใครเหนื่อยยากเท่าพระองค์ ตรงนี้คือกำลังใจที่ให้เราได้ทำงานต่อไป....เพื่อพระองค์”
กว่า 30 ปี แล้วที่คุณสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.) ผู้บริหารระดับสูงวัย 57 ปีที่เติบโตมาพร้อมๆ กับการจัดตั้งสำนักงาน กปร. หนึ่งในผู้ที่ทำงานถวายอย่างทุ่มเท เพื่อสนองพระราชดำริให้โครงการต่างๆ สำเร็จลุล่วงและเป็นประโยชน์กับประชาชน
คุณสุวัฒน์ เป็นคน จ.ลพบุรี ศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเทพมหานคร จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปะศาสตร์บัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) ม.เชียงใหม่ ต่อด้วยปริญญาโท คณะพัฒนบริหารศาสตร์มหาบัณทิต ทางพัฒนาการเศรษฐกิจ (การวางแผนภาคและเมือง) จากสถาบันบัณฑิตบริหารศาสตร์ ต่อมาได้ทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)ครั้งนั้นได้พบกับดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจสภาพัฒน์ (ตำแหน่งขณะนั้น) คำแรก ดร.สุเมธ บอกว่า “แล้วมาทำงานด้วยกัน” และจนทุกวันนี้ก็ได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการจัดตั้งเป็นสำนักงาน กปร. ที่ปัจจุบันได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ สะพานพระราม 8 ถนนอรุณอมรินทร์ บางยี่ขัน แห่งนี้
แม้ว่าคุณสุวัฒน์ จะเพิ่งรับตำแหน่งเลขาธิการ กปร. ไม่ถึงปีแต่การทำงานสนองพระราชดำรินั้นยาวนานกว่า 30 ปีแล้ว “เป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่ผม เด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งได้มีโอกาสทำหน้าที่ติดตามเสด็จและถวายงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”คุณสุวัฒน์พูดด้วยความภาคภูมิใจว่า“สูงสุดในชีวิตแล้วที่ได้ทำงานสนองพระราชดำริใต้เบื้องพระยุคลบาท” และทุกครั้งที่ได้ตามเสด็จ ก็มักจะได้เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกร ทำให้ได้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นพระราชหฤทัยที่ทั้งสองพระองค์ พระราชทานพระราชดำริในโครงการต่างๆ เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งนี้เองที่จุดประกายให้ต้องมุ่งมั่นทำงานให้มากยิ่งขึ้น
“เมื่อเร็วๆ ผมได้ติดตามเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งแต่ละครั้งที่มีหมายกำหนดการเสด็จ พระองค์ทรงงานหนักตั้งแต่เช้า จนกระทั่งฟ้ามืด ในแต่ละวันจะเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎร และทรงงานหลายๆ แห่ง ครั้งนั้นผมเดินตามพระองค์ก็ทรงหันมารับสั่งว่า “วันนี้จดงานมาได้ 50 หน้า” ผมฟังและเห็นแล้วว่านี่เพียง 1 วันเท่านั้นเอง พระองค์ทรงงานหนักแค่ไหน เพราะฉะนั้นเรายิ่งต้องมุ่งมั่นทำงาน จะเหนื่อยยากเพียงใด ผมเชื่อว่าไม่มีใครเหนื่อยยากเท่าพระองค์ ตรงนี้เป็นกำลังใจให้เราต้องทำงานต่อไปอย่างเต็มกำลังที่สุด”
เลขาธิการ กปร. เล่าอีกว่า การติดตามเสด็จทำให้ได้รับประสบการณ์ต่างๆ มากมาย และความทรงจำที่ประทับใจมากที่สุดครั้งที่ตามเสด็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์จากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ไปยัง อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อเฮลิคอปเตอร์บินลง พระองค์ก็ทรงกางแผนที่และตรัสว่า “เดี๋ยวจะไปที่ลำน้ำนี้” ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ลำพะยัง” เมื่อเสร็จสิ้นพิธีต่างๆ แล้ว พระองค์ก็เสด็จไปที่ลำน้ำนั้น ท่านสวัสดิ์ วัฒนายากร อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้น พร้อมด้วย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีใครรู้ว่าลำน้ำลำพะยังอยู่ตรงไหน เพราะไม่ได้เตรียมการใดไว้ล่วงหน้า ก็ไปถามเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ไม่มีใครรู้ แต่มีชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่ารู้และนำทางไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง คนนำก็นำไปแต่ไม่ถึงสักที จากถนนเรียบลาดยางไปถึงถนนลูกรัง จนกระทั่งไม่มีถนน และเป็นทางตัน ทุกคนก็รู้ว่านำทางผิดแล้ว ต่างก็หน้าเสียกันหมด
“พระองค์ทรงหยุดรถและเปิดรถแล้วรับสั่งถามว่า “นี่จะพาไปไหนเนี่ย”อธิบดีกรมชลฯ ก็ตอบว่า “ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ทราบเหมือนกันพระเจ้าข้า” พระองค์รับสั่งถามว่า “จะพาไปดิสโก้หรือไง” ผู้ตามเสด็จทุกคนก็ไม่กล้าหัวเราะเพราะไม้รู้ว่า ดิสโก้ของพระองค์หมายถึงอะไร หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงเล่าให้ฟังว่า เขาบอกให้เลี้ยวซ้าย ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมเลี้ยวซ้าย แต่เขาก็บอกให้เลี้ยวซ้าย เลี้ยวซ้ายผ่านโรงเรียน ผ่านโรงเรียนแล้วก็เลี้ยวขวา เลี้ยวขวานั้น ก็เข้าไปในทางที่เรียกได้ว่าลำลองอย่างมาก ๆ เป็นทางที่เขาเต้น “ดิสโก้” กัน คือที่เต้น “ดิสโก้” นี่ เพราะว่ารถมันแกว่งไปแกว่งมา เหมือนเต้น “ดิสโก้” ก็เลยเรียกว่า “ทางดิสโก้” แล่นไปตาม “ทางดิสโก้” นั้นไกลพอสมควร ประมาณสักสองกิโลเมตรก็ไปถึงที่แห่งหนึ่ง เขาบอกว่าหยุด หยุดตรงนั้น มืดแล้ว เห็นมีแต่นา คนที่นำทางก็บอกว่า “นึกว่าอยากจะมาตรงนี้” เราบอกว่า “ไม่ใช่ อยากจะมาดูตรงที่เป็นทางน้ำ ที่เหมาะสมกับการทำโครงการ รูปร่างคล้าย ๆ เป็นแก่ง” เป็นอันกลับ กลับมา “ดิสโก้” อีกสองกิโลเมตร แล้วมาที่หมู่บ้าน แล่นตรงไป แล้วเดินอีกสองร้อยเมตรก็ไปถึงที่ที่ถูกต้อง หลังจากนั้นก็ทรงพระดำเนิน แต่มีลวดหนามชาวบ้านกั้นอยู่ พระองค์ก็ทรงลอดลวดหนามเข้าไป จากนั้นก็รับสั่งกับอธิบดีกรมชลประทานว่า “นี่อธิบดีฯ อย่าลืมมาซ่อมให้เขาด้วยนะ” เพราะทรงห่วงว่าทรัพย์สินของชาวบ้านจะเสียหายนั่นเอง นี่จึงเป็นที่มาที่องคมนตรี สวัสดิ์ วัฒนายากร ได้กล่าวไว้ว่า“คิดดูสิ...ว่าจะมีพระเจ้าแผ่นดินชาติใดในโลกที่ทรงลอดลวดหนาม...เพื่อทรงไปหาน้ำให้ประชาชน”
คุณสุวัฒน์ ได้เล่าต่อว่า ตนถือได้ว่าเติบโตอยู่ที่สำนักงาน กปร. มาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน รู้สึกรัก ผูกพัน ประทับใจ ภาคภูมิใจ "ที่สำคัญการได้ทำหน้าที่รับโครงการต่างๆ มาประสานให้เกิดประโยชน์กับประชาชนตรงนี้คือหัวใจสำคัญที่จะต้องตอบว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้างจากโครงการ”
จากการดำเนินงานของสำนักงาน กปร. ตลอดระยะเวลา30 กว่าปี เห็นความสำเร็จที่เป็นต้นแบบอย่างชัดเจน เกิดเป็นองค์ความรู้มากมายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 4,100 โครงการ และที่มากที่สุดคือเรื่องแหล่งน้ำ มีทั้งสิ้น 2,900 โครงการ กระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ คือ เรื่อง สิ่งแวดล้อม การพัฒนาอาชีพ การเกษตร และการศึกษา เป็นต้น จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้องค์ความรู้เหล่านี้ต่อยอดไปสู่ประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และจะมุ่งมั่นพัฒนาให้สำนักงาน กปร. เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยต่อไป ภายใต้การดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เมื่อย้อนถึงแรงบันดาลใจในการมุ่งมั่นทำงาน คุณสุวัฒน์ เล่าอย่างมีความสุขว่า “วันแห่งความประทับใจ ที่ผมไม่เคยลืม คือวันหนึ่งที่พระตำหนักภูพานารชนิเวศน์ จ.สกลนคร ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ “ได้เข้ารับพระราชทานเหรียญพระบรมฉายาลักษณ์คู่ จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมถือว่าเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต ข้าราชการตัวเล็กๆ อย่างผม นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมพยายามทำงานในสำนักงาน กปร. ให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”
เลขาธิการ กปร.ยิ้มแล้วเล่าต่อ ไปว่า ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บอกเสมอๆ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น” และการได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรของพระองค์จึงรู้ว่าจะต้องตั้งมั่นทำงานให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้งานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริประสบผลสำเร็จเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และความมั่นคงของประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป