กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ม.อ.ปัตตานี จัดระดมความคิดเห็นการแก้ปัญหานาร้าง ระบุปัญหาเกิดจากมีแรงจูงใจของเกษตรกรที่เห็นว่ามีพืชเศรษฐกิจตัวอื่นให้ผลตอบแทนดีกว่า การอพยพไปทำงานต่างถิ่น น้ำท่วมขังที่นาและ การขายที่นาให้นายทุน ผู้ ช่วยศาสตราจารย์ สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า โครงการวิจัยการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการลุ่มน้ำสายบุรี ได้จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ”ตอบโจทย์นาร้าง: ความจริง ปัญหาและทางออก โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ นุกูล รัตนดากุล ที่ปรึกษาเครือข่ายลุ่มน้ำสายบุรีและนักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ที่มีปัญหาเรื่องนาร้าง เข้าร่วมกว่า 40 คน โครงการวิจัยการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการลุ่มน้ำสายบุรี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
การสัมมนาครั้งนี้ มีการปาฐกถาพิเศษว่าด้วยเรื่องนาร้าง โดย คุณสุมาลี ขุนพิทักษ์ กำนันตำบล มะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี รวมทั้งยังได้มีการเสนอข้อค้นพบปัญหานาร้างในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยตัวแทนชุมชน วิเคราะห์และวิจารณ์และแลกเปลี่ยนข้อค้นพบปัญหานาร้าง โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำสายบุรีและลุ่มน้ำปัตตานี เปิดเผยว่า ปัญหานาร้างมีผลกระทบสูงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และทางสิ่งแวดล้อมส่งผลให้การพัฒนาในพื้นที่ขาดความยั่งยืน ชาวนาเกือบทั้งหมดปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก สาเหตุหลักที่เกิดปัญหานาร้าง คือ ระบบการระบายน้ำของชลประทาน น้ำท่วมขังที่นา การสร้างถนนยกพื้นสูง เป็นต้น จนทำให้ที่นาต้องถูกปล่อยทิ้งร้างไป
นอกจากนี้ทางโครงการวิจัยการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการลุ่มน้ำสายบุรี ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาได้เสนอปัญหานาร้างของตนเอง และแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนถึงการทำอาชีพชาวนาในปัจจุบันไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เปรียบเสมือนอาชีพที่ไม่มีศักดิ์ศรี และชาวนาจำนวนไม่น้อยคิดว่าอาชีพทำนาไม่สามารถสร้างความร่ำรวยให้กับตนเองได้ แต่ทุกคนก็ยังยืนยันว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไปเพื่อสืบสานและอนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลังสืบทอดต่อไป
ทั้งนี้จากรายงานการวิจัย เรื่อง สาเหตุและผลกระทบจากปัญหานาร้างในจังหวัดปัตตานี ที่ดำเนินการโดย รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และคณะนักวิจัย ค้นพบว่า ปัญหานาร้างในจังหวัดปัตตานีเริ่มมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา และปรากฏชัดขึ้นเป็นลำดับก่อนปี พ.ศ. 2540 จากข้อมูลของทางราชการ ในปี 2548 จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่นา 323,786 ไร่ เป็นพื้นที่นาร้าง 61,906 ไร่ หรือร้อยละ 19.12
สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหานาร้าง คือ พืชเศรษฐกิจตัวอื่นให้ผลตอบแทนดีกว่า การอพยพไปทำงานต่างถิ่นทั้งในและต่างประเทศ น้ำท่วมขังที่นาที่เกิดจากคันคลองส่งน้ำชลประทาน และพื้นถนนที่ยกสูง การขายที่นาให้นายทุน และทัศนคติของชาวนาที่มีต่อการทำนาแย่ลง
“หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณในการจัดทำโครงการต่างๆ หลายโครงการ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนาให้ดีขึ้น แต่ดูเหมือนทุกโครงการไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของชาวนาในกระบวนการกำหนด การตัดสินใจ และการดำเนินโครงการ ปัญหานาร้างได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของชาวนา ความเป็นครอบครัว ความเอื้ออาทรกันในชุมชน วัฒนธรรมข้าว รวมทั้งผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม และในที่สุดส่งผลให้การพึ่งตนเองได้ของครัวเรือนและชุมชนมีน้อยลง และทำให้การพัฒนาขาดความยั่งยืน” รายงานการวิจัยดังกล่าวระบุ