กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--งานประชาสัมพันธ์ เอ็มเทค
"ท่าเรือคลองเตย" คว้าแชมป์สร้างหุ่นยนต์ RDC 2013 โชว์กึ๋นเด็กไทยสร้างหุ่นยนต์แก้โจทย์ระบบโลจิสติกส์รับเออีซี พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมแข่งขันเวทีโรบอต ดีไซน์ระดับโลก “IDC Robocon 2013” ที่ประเทศบราซิลต้นกรกฎาคมนี้
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมจัด “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6” (Robot Design Contest 2013, RDC 2013) รอบชิงชนะเลิศ ณ ลานศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ชั้น 1 ประตูน้ำ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทักษะความสามารถของเยาวชนไทยด้านการศึกษาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเฟ้นหาเยาวชนตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ IDC Robocon 2013 ณ ประเทศบราซิล ในต้นเดือนกรกฎาคมนี้
โดยปีนี้ทีมผู้ชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ RDC 2013 ได้แก่ ทีม “ท่าเรือคลองเตย” ประกอบด้วย น.ส. เสาวนาถ สุริยะวงศ์ไพศาล นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายจตุรพร ทาสุวรรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง จาก วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี นายปวริศร์ ฤทธิ์เมธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ นายจิตรภณ ศรีอาจ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
รองศาสตราจารย์ ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวถึงการแข่งขันฯในครั้งนี้ว่า มีการจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 แล้ว และนับว่าได้ส่งเสริมและสร้างความตื่นตัวให้เยาวชนไทยสนใจความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ที่เราจัดขึ้นเป็นห้องเรียนรู้ขนาดใหญ่ในการฝึกทักษะด้านการสร้างและออกแบบหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม และเรียนรู้การทำงานเป็นทีมตลอดจนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กระบวนการเหล่านี้จะประโยชน์อย่างยิ่งในภายหน้าสำหรับการทำงานในวิชาชีพวิศวกร เนื่องจากปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และมีความสำคัญในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะกำลังจะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในอีก 2 ปีข้างหน้าในกลุ่มประเทศอาเซียน เออีซีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรในอาเซียนมากขึ้น อันจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจในอาเซียน ทำให้ความต้องการใช้บริการด้านโลจิกติกส์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นในปีนี้ เราจึงได้สร้างสรรค์โจทย์การแข่งขันเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นคือStrengthen Logistics for AEC (สเตร็งเธ็น โลจิสติกส์ ฟอร์ เออีซี)
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อลงกรณ์ พิมพ์พิณ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวคิดการแข่งขันในปีนี้ว่า การแข่งขันในปีนี้ เราต้องการจะเชื่อมโยงอาเซียนเข้าด้วยกันเพื่อเตรียมตอบรับการเปิดเออีซี เราจึงนำเรื่องระบบการขนส่งหรือโลจิสติกส์มาใช้เป็นกติกาในปีนี้ โดยจะเน้นให้หุ่นยนต์สามารถขนส่งสินค้าในทุกๆ ระบบทั้ง ทางบก ทางอากาศ และ ทางน้ำ โดยทีมที่สามารถทำแต้มได้เร็วที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ชนะ เราได้จำลองสนามการแข่งขันออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเรือจะอยู่ด้านล่าง สมมุติให้เป็นน่านน้ำของประเทศในอาเซียน และพื้นที่ส่วนที่เป็นสีเขียวจะเป็นพื้นที่ทางบก โดยให้ควบคุมหุ่นยนต์มือจับลูกเทนนิส ซึ่งก็คือสินค้าใส่ลงไปในท่อสีฟ้า ซึ่งเสมือนเป็นการส่งสินค้าไปตามระบบการขนส่งต่างๆ
ด้านนายจิตรภณ ศรีอาจ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตัวแทนทีม "ท่าเรือคลองเตย" ผู้ชนะในปีนี้ กล่าวว่า สำหรับเทคนิคการสร้างหุ่นที่ทำให้เราเอาชนะคู่แข่งได้นั้น เชื่อว่าน่าจะเป็นการออกแบบตัวจับ ที่มีการออกแบบมาอย่างดี เป็นแบบแขนเดียว สามารถเคลื่อนที่ได้ง่าย และมีทีมเวิร์กที่ดี รวมทั้งการทุ่มเทเวลาในการฝึกซ้อม เพื่อหาข้อบกพร่องและปรับปรุงแก้ไขให้หุ่นยนต์ออกมาดีที่สุด
"สำหรับการเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ทำให้มีโอกาสทำงานกับเพื่อนที่ต่างสถาบันการศึกษา ส่วนการเตรียมตัวไปแข่งขันที่ประเทศบราซิล ผมมองเรื่องการควบคุมสมาธิ กับการควบคุมจิตใจ อย่างถ้าเราต้องเจอสถานการณ์ที่กดดัน การแข่งขันที่ยาก สิ่งแวดล้อม หรืออะไรก็แล้วแต่เราต้องควบคุมจิตใจให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้มีสมาธิกับการแข่งขันมากที่สุด สิ่งที่ได้รับจากการเข้าแข่งขันในครั้งนี้ มีตั้งแต่ ประสบการณ์ เพื่อนที่ดี การรู้จักวางแผนเวลา การคุมสติ ทุกอย่างมีผลทั้งหมด ถ้าเราเก่งอยู่คนเดียวในทีม ไม่มีเพื่อนร่วมงานที่ดี อย่าง ผมเป็นคนควบคุม ถ้าไม่มีหุ่นยนต์ที่ดีจากเพื่อนอีกคนในทีมก็ทำไม่ได้ ส่วนเพื่อนอีกคนทำในส่วนของหุ่นออโต้ถ้าทำไม่ดีเราก็ไม่มีทางชนะได้ เราต้องมีเนวิเกเตอร์ที่ดีเป็นเหมือนตาคู่ที่2 ของเราด้วยครับ"
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ มีนิสิตนักศึกษาผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันระดับภูมิภาคเข้าสู่การแข่งขันในระดับประเทศ จำนวนรวม 84 คนจาก 23 สถาบันการศึกษาในประเทศ และ National University of Laos สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รูปแบบการแข่งขันจะแบ่งให้แต่ละทีมแข่งขันมีนักศึกษาคละสถาบันฯ กันและมีนักศึกษาจำนวน 4 คนต่อทีม รวม 21 ทีม โดยนักศึกษาทุกคนที่เข้าแข่งขันจะเก็บตัวเพื่อเข้ารับการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งการพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หุ่นยนต์ทำงานหรือเคลื่อนที่อัตโนมัติ เพื่อเป็นการต่อยอดนักศึกษาในการเรียนและประโยชน์กับการทำงานหรือประกอบอาชีพในโรงงานสมัยใหม่
สำหรับทีมชนะเลิศจากการแข่งขัน RDC 2013 จะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ IDC Robocon 2013” ที่ประเทศบราซิล ระหว่าง 9-19 กรกฎาคมนี้ โดยมีประเทศที่เข้าร่วม คือ บราซิล สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ โมร็อกโก และประเทศไทย
การแข่งขัน RDC 2013 ในปีนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทิพย์พัฒน อาเขต จำกัด