กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--สพฉ.
วันที่ 27 พ.ค. 2556 ที่โรงแรมโรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดประชุมเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน ภาคมูลนิธิ/สมาคม สู่การพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน ประจำปี 2556 เพื่อพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีหัวหน้ากู้ชีพ ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สังกัดมูลนิธิ/สมาคมจากทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า เครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินภาคเอกชนที่สังกัดมูลนิธิต่างๆ ถือว่ามีความสำคัญมากเครือข่ายหนึ่งในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย รวมทั้งเป็นกำลังหลักในการช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากมีการปฏิบัติงานกระจายอยู่แทบทุกพื้นที่ และที่สำคัญมีจิตอาสาและพลังใจพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอดเวลาโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำให้เสริมงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ผ่านมาให้มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการพัฒนางานด้านการแพทย์ฉุกเฉินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่นับวันจะยิ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป้าหมายของการพัฒนาจะเน้นใน 5 เรื่อง หรือ 5 ค. คือ 1.ครอบคลุม การบริการผู้ป่วยต้องวิกฤตจริงๆ เช่น ได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บ หรือเป็นโรคประจำตัว 2.คล่องแคล่ว คือเพิ่มจำนวนหน่วยกู้ชีพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้สามารถไปถึงผู้รับบริการอย่างปลอดภัยภายใน 8 นาที จากเดิม 10 นาที 3.คุณภาพ มีการประเมินการทำงานตนเองให้ได้มาตรฐานแท้จริง 4.คุ้มครอง ป้องกันผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินและสังคมรอบข้างที่เกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉิน และ 5.ครบ 24 ชั่วโมง โดยเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินต้องพร้อมทำงานตลอด ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือประชาชนมีความถูกต้อง มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนที่จะขอความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น
“สำหรับการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาและชี้แจงมาตรฐานการปฏิบัติงาน ผลักดันนโยบายเชิงรุกสู่องค์กรเอกชน รวมถึงการเตรียมความพร้อมของอาสากู้ชีพ-กู้ภัยแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้ร่วมหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน รวมทั้งระดมความเห็นจากข้อจำกัดในการปฏิบัติงานเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไปด้วย” นพ.อนุชากล่าว
สำหรับปัจจุบันมีเครือข่ายผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 122,945 คน แบ่งเป็นพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (EMT-B) 3,849 คน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) 101,690 คน ซึ่งจากประสิทธิภาพและความครอบคลุมของหน่วยปฏิบัติการและผู้ปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้การปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันกาล ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้นด้วย