สัมมนากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติครบรอบ 1 ปี

ข่าวทั่วไป Tuesday May 28, 2013 11:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ สัมมนากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติครบรอบ 1 ปี โชว์ผลงานช่วยประชาชน-ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงระบบประกันภัย ผลักดันเศรษฐกิจขยายตัว กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ จัดงานสัมมนาใหญ่ครบรอบ 1 ปี เรื่อง “วิกฤติ โอกาส และความเชื่อมั่น : กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” เผยแพร่ผลงานในการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ช่วยเศรษฐกิจขยายตัว ณ ห้องบอลรูม 1-2 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ มีการสัมมนาเรื่อง “วิกฤติ โอกาส และความเชื่อมั่น : กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีของการจัดตั้งกองทุนฯ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังงานสัมมนาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ในงานสัมมนาดังกล่าวมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บูรณาการระบบบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติของประเทศ” โดยนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลังและกรรมการบริหารกองทุนฯและการกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อุตสาหกรรมไทย ก้าวพ้นภัยพิบัติ” โดยนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง “วิกฤติ โอกาส และความเชื่อมั่น : กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” โดยมีวิทยากรจากภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมเสวนา ได้แก่ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกรรมการบริหารกองทุนฯ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และนายทวิช เตชะนาวากุล ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีของการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จของกองทุนฯ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และแนวทางการให้ความคุ้มครองด้านประกันภัยพิบัติ แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ตลอดจนการผลักดันให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการประกันภัยพิบัติ เพื่อรับความคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม นอกจากนั้น การจัดตั้งกองทุนฯ ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่น ต่อระบบประกันภัยของประเทศและส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากการที่ตัวเลขการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลงานดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ณ 28 มีนาคม 2555- 7 พฤษภาคม 2556 มียอดจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ ทั้งสิ้น 993,521 ฉบับ โดยมีกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 979,625 ฉบับ ซึ่งเป็นทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนกองทุนฯ ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 54,945 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยต่อตามสัดส่วนกองทุนฯ 464 ล้านบาท โดยกลุ่มบ้านอยู่อาศัยมีการซื้อกรมกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติสูงสุดในสัดส่วนร้อยละ 92 ของกรมธรรม์ทั้งหมดหรือจำนวน 906,622 ฉบับ รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจ SMEs ร้อยละ 7 หรือจำนวน 68,013 ฉบับ และกลุ่มอุตสาหกรรมร้อยละ 1 ของกรมธรรม์ทั้งหมดหรือจำนวน 4,990 ฉบับ นอกจากนั้น พบว่ากลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยเป็นกลุ่มที่มีทุนประกันภัยภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนสูงสุดคือสัดส่วนร้อยละ 58 คิดเป็นมูลค่า 32,078 ล้านบาท ถัดมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมในสัดส่วนร้อยละ 26 คิดเป็นมูลค่า 14,162 ล้านบาท และกลุ่ม SMEs สัดส่วนร้อยละ 16 มูลค่า 8,704 ล้านบาท ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ สูงสุดที่ร้อยละ 45 รองลงมาคือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยสัดส่วน 35 และกลุ่ม SMEs มีสัดส่วนร้อยละ 20 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเรียกร้องสินไหมทดแทน “การที่ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมตื่นตัวให้ความสำคัญทำประกันภัยพิบัติเพิ่มขึ้นสะท้อนว่า มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยพิบัติ และเชื่อมั่น ในการดำเนินงานของกองทุนฯ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจว่า หากเกิดภัยพิบัติก็จะมีกองทุนฯ ให้ความคุ้มครองทรัพย์สิน ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับระบบอุตสาหกรรม และสามารถเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมของโลกต่อไป” นายพยุงศักดิ์ กล่าว ด้านนายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า การที่เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นผลจาก นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายรัฐบาลและการดำเนินการของภาครัฐ ในการบริการจัดการภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และโครงการบริหารจัดการน้ำและป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ “กองทุนฯ จะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักทุนต่างชาติ ให้ดำเนินกิจการและขยายการลงทุนในไทยต่อไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในอนาคต” นายอารีพงศ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ