องค์กรตลาดทุนเดินหน้ายกระดับบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยเทียบชั้นสากล

ข่าวทั่วไป Wednesday October 26, 2005 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--ตลาดหลักทรัพยฯ
ภาครัฐและเอกชนในแวดวงตลาดทุนไทย พร้อมใจนำผลประเมินด้านบรรษัทภิบาลของธนาคารโลกมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานตลาดทุนไทยให้เป็นสากลยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน และการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่ตลาดทุนไทย
วันนี้ (26 ตค. 2548) คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ก.ล.ต. ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาเรื่อง “ทัศนะธนาคารโลกต่อ CG ไทย และทิศทางในอนาคต” เพื่อชี้แจงผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance — Reports on the Observance of Standards and Codes : CG-ROSC) ที่ประเมินโดยธนาคารโลก และนำเสนอแนวทางการพัฒนาบรรษัทภิบาล หรือCG ในอนาคตซึ่งการสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนกว่า 400 คน
ผลการประเมินด้านบรรษัทภิบาล (CG-ROSC) ของตลาดทุนไทยโดยธนาคารโลก ปรากฏว่าประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ถือว่าสอบผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลในระดับที่น่าพอใจถึงร้อยละ 69 และสอบผ่านเกณฑ์แต่ควรได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมร้อยละ 31 โดยไม่มีเรื่องใดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “เราทำคะแนนได้ดีเป็นพิเศษในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้าน CG ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มที่ดีที่จะเปิดโอกาสให้ไทยก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลก มาตรฐาน CG ที่ดีหมายถึงการรับรองคุณภาพต่อสายตาของผู้ลงทุนต่างชาติซึ่งให้ความสำคัญกับ CG ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามาตรฐานของเราอยู่ ณ จุดใดเทียบกับสากล ทำให้เราสามารถวางกลยุทธ์ในการปรับปรุง CG ได้ตรงจุด ซึ่งจะสอดรับกับแผนการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคนี้ภายในอีก 3-4 ปีข้างหน้า"
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ ซึ่งมี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนอย่างต่อเนื่องเสมอมา โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้เกิดมาตรฐาน CG ที่ดี ผลงานของคณะกรรมการฯ ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การอบรมสัมมนาให้ความรู้เรื่อง CG การมอบรางวัลแก่บริษัทจดทะเบียนที่มีมาตรฐาน CG ดีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
“มาถึงวันนี้ความพยายามของรัฐบาลในการเป็นผู้ผลักดัน CG ที่ดี เริ่มเห็นผลแล้ว รายงานการประเมินของธนาคารโลกฉบับนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงพัฒนาการด้าน CG ของไทย อย่างไรก็ดี ทุกฝ่าย
ในตลาดทุนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้น เพื่อรับกับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนและการแข่งขันที่ทวีความ รุนแรงยิ่งขึ้นในระดับนานาชาติ ผมอยากเห็นภาคเอกชนเป็นฝ่ายรุกมากขึ้นในการผลักดันมาตรฐาน CG ที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไปอีก” ดร.สมคิดกล่าว
Mr. Behdad Nowroozi, Senior Financial Management Specialist ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ธนาคารโลก ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงาน CG-ROSC กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้แสดงความพร้อมด้าน CG โดยการสมัครเข้าร่วมโครงการ CG-ROSC ในช่วงการประเมิน ทุกฝ่ายได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการให้ข้อมูลต่อธนาคารโลกซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการประเมินเป็นอย่างยิ่ง
"ผลการประเมินของไทยแสดงให้เห็นว่าไทยมีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนามาตรฐาน CG ที่ดีดังจะเห็นได้จากการออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และการจัดการฝึกอบรมแก่กรรมการของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ตลาดทุนไทยยังควรได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมในเรื่องการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น การออกกฎหมายและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่เข้มงวดมากขึ้น การยกระดับมาตรฐานบัญชีและการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งส่งเสริมจริยธรรมและแนวปฏิบัติที่ดีทางธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นอีก" Mr. Nowroozi กล่าวเสริม
“การยกระดับมาตรฐานด้าน CG เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการและต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในตลาดทุนแต่ก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหากไทยจะเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับภูมิภาคหรือระดับโลก"
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า "เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก ผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศจึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนการลงทุนและแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ที่จะนำเงินไปลงทุน โอกาสนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราสามารถแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานของเรา ผมเชื่อว่าคะแนนที่เราได้จากการประเมิน CG-ROSC นี้น่าจะช่วยสะท้อนให้ผู้ลงทุนต่างประเทศหันมาสนใจตลาดทุนไทยของเรามากขึ้น”
“ผมอยากฝากไปยังภาคเอกชนว่า การมี CG ที่ดีเป็นเรื่องจำเป็นและใกล้ตัว ซึ่งให้ผลประโยชน์ในระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้นและตลาดทุนโดยรวมที่คุ้มค่ามาก"
เอกสารแนบข่าว
1. โครงการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทย หรือ CG-ROSCs (Corporate Governance — Report on the Observance of Standards and Codes) ใช้แนวการประเมินตามหลักการ (Principles) ของ OECD (Organization for Economic Cooperation and Development — องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) 6 หมวด ซึ่งจะพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
(1) โครงสร้างพื้นฐานด้านบรรษัทภิบาล (Ensuring the Basis for an Effective Corporate Governance Framework)
(2) สิทธิของผู้ถือหุ้น (The Rights of Shareholders and Key Ownership Functions)
(3) การปฏิบัติของผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม (Equitable Treatment of Shareholders)
(4) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท (Role of Stakeholders in Corporate Governance)
(5) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (Disclosure and Transparency)
(6) บทบาทและความรับผิดชอบของกรรมการบริษัท (Responsibilities of the Board)
การประเมิน CG-ROSC โดยธนาคารโลก ก.ล.ต. ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก และได้ความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย โดยข้อมูลที่ใช้ในการประเมินส่วนใหญ่ได้จากการสัมภาษณ์หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ลงทุนสถาบัน สถาบันการเงิน และบุคลากรผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เช่น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักกฎหมาย นักบัญชี ผู้ตรวจสอบ เป็นต้น ปัจจุบัน มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ CG-ROSC ประมาณ 30 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกับไทยด้วย ได้แก่ เกาหลี อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ท่านสามารถอ่านรายงาน CG-ROSC ฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. (www.sec.or.th) หรือธนาคารโลก (www.worldbank.org/ifa/rosc_cg_tha.pdf )
2. ตารางเปรียบเทียบผลการประเมิน CG-ROSCs ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นในเอเชีย
- O หมายถึง มีหลักเกณฑ์ตรงกับสากล และปฏิบัติตามครบถ้วน
- LO หมายถึง มีหลักเกณฑ์ตรงกับสากล การปฏิบัติขาดเพียงเรื่องเล็กน้อย
- PO หมายถึง มีหลักเกณฑ์ตรงกับสากล การปฏิบัติบางเรื่องยังไม่จริงจัง
- MNO หมายถึง หลักเกณฑ์ยังไม่ตรงกับสากล หรือตรงแต่ไม่เชื่อว่าจะปฏิบัติได้
- NO หมายถึง ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
จำนวนข้อ (%) ไทย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์
O-Observed - 17 - 44 17
LO-Largely Observed 69 43 9 26 26
PO-Partially Observed 31 40 78 26 -
MNO-Materially not Observed - - 13 4 53
NO-Not Observed - - - - 4
Total 100 100 100 100 100
หมายเหตุ เปรียบเทียบเฉพาะบางประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เข้าร่วมโครงการ CG-ROSCs ในช่วงปี 2544-2547--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ