กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยถึงการประชุมหารือแนวทางการลงทะเบียนรถจักรยานยนต์โดยใช้ระบบ Global Positioning Systems (GPS) สำหรับ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จากสถานการณ์การก่อความไม่สงบของผู้ก่อการร้ายใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดดังกล่าวเป็นอย่างมาก คณะอนุกรรมาธิการติดตามบริหารงบประมาณกลุ่มภารกิจด้านความมั่นคง และกลุ่มภารกิจด้านบริหาร ดังนั้น คณะกรรมาธิการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงไอซีที จึงเห็นพ้องกันว่า ควรดำเนินการศึกษาแนวทางการลงทะเบียนรถจักรยานยนต์โดยใช้ระบบ Global Positioning Systems (GPS) สำหรับ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อป้องกันการก่อการร้ายโดยใช้จักรยานยนต์ในการก่อเหตุ
โดยกระทรวงไอซีทีได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือถึงแนวทางในการลงทะเบียนรถจักรยานยนต์ดังกล่าว ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย ซึ่งเบื้องต้นได้นำเอากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว 3 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ส่วนที่ 3 มาตรา 35 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาใช้ในการศึกษาข้อมูลเพื่อหาแนวทาง ดำเนินการ รวมทั้งได้พิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสียของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 3 วิธี คือ วิธีแรกการใช้อุปกรณ์ติดตามรถแบบ Offline ซึ่งจะเก็บข้อมูลตำแหน่งพิกัดเอาไว้ในตัวเครื่อง GPS Tracking เวลาจะเรียกดูข้อมูลจะต้องนำตัวเครื่อง GPS Tracking มาต่อเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายโอนข้อมูล วิธีนี้จะมีราคาถูกแต่จะไม่สามารถตรวจสอบตำแหน่งปัจจุบันได้ ตรวจสอบได้เฉพาะประวัติการเดินทางที่ผ่านมาเท่านั้น ส่วนวิธีการใช้อุปกรณ์ติดตามรถแบบกึ่ง Offline จะเป็นการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยที่ตัวเครื่องจะมีช่องไว้สำหรับใส่ Sim-Card และส่งข้อมูลพิกัดกลับไปให้ผู้ใช้ผ่านระบบ SMS เมื่อผู้ใช้ร้องขอไปที่ตัวเครื่อง GPS Tracking วิธีการนี้จะจ่ายเพียงค่าใช้บริการส่ง SMS ของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่จะไม่ค่อยสะดวกเพราะผู้ใช้จะได้รับข้อมูลพิกัดในแบบตัวเลข ซึ่งจะต้องนำพิกัดตัวเลขนั้นไปหาตำแหน่งปัจจุบันผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทางย้อนหลังได้ วิธีการสุดท้ายการใช้อุปกรณ์ติดตามรถแบบกึ่ง Online ซึ่งอุปกรณ์จะรับข้อมูลพิกัดตำแหน่งปัจจุบันจากดาวเทียม และส่งไปเก็บที่เครื่อง Server ผ่านระบบ 3G / EDGE / GPRS ผู้ใช้สามารถเรียกดูตำแหน่งปัจจุบัน หรือประวัติการเดินทางแบบ online ได้ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังสามารถส่งคำสั่งต่างๆ กลับไปยังเครื่อง GPS Tracking ได้อีกด้วย แต่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนหรือตามเงื่อนไขที่ผู้ให้บริการแต่ละรายกำหนด
“ทั้งนี้ ที่ประชุมจะนำข้อมูลที่กระทรวงไอซีทีได้ศึกษามาข้างต้นไปพิจารณา วิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางการลงทะเบียนรถจักรยานยนต์โดยใช้ระบบ GPS ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และจะนำเสนอผลการพิจารณา รวมถึงข้อมูลเพิ่มเติมในที่ประชุมครั้งต่อไป” นายไชยยันต์ฯ กล่าว
ติดต่อ:
pr.mict 02-141-6747