รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Thursday April 10, 1997 08:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--10 เม.ย.--ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) เวลา 10.30 น. ณ.ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอัลเฟรด บี เอนโซ (Alfred B. Nzo) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาไต้ ได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 9-10 เมษายน 2540 ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Allgned Movement-NAM) ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2540 ณ. กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ภายหลังการกล่าวต้อนรับได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสองที่ดำเนินมาด้วยดียิ่งพร้อมกับแสดงความเสียดายที่ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลลา ไม่สามารถเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในช่วงการเดินทางเยือนประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และ บรูไน ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเชิญประธานาธิบดี แมนเดลลา เดินทางมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง โดยส่วนตัว นายกรัฐมนตรีมีความชื่นชมประธานาธิบดีฯ เป็นอย่างมาก ในฐานะผู้นำที่มีประสบการณ์สูง และมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนพร้อมกันนี้ยังได้ฝากความปรารถนาดีผ่านรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้ไปยังประธานาธิบดีด้วย
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้แจ้งว่า การเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ณ กรุงนิวเดลฮี บับเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการเดินทางมาภูมิภาคเอเซียในครั้งนี้ สำหรับในการเดินทางมาเยือนประเทศไทย มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและแอฟริกาใต้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และในช่วงการประชุมกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดยังได้มีโอกาสพบปะสนทนากับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (นายประจวบ ไชยสาสน์) จึงได้ย้ำไปว่ารัฐมนตรีฯ ควรจะเดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ เพื่อร่วมหารือในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ในรายละเอียดต่อไปในปัจจุบัน ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยและแอฟริกาใต้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการค้า จึงควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้ง การร่วมกันอำนวยความสะดวกในการจัดสร้างพื้นฐานเพื่อการลงทุน และในด้านอื่น ๆ ตลอดจน การคงไว้ซึ่งความพยายามร่วมกันในประเด็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจของประเทศทั้งสองในขณะนี้ อาทิ ปัญหาการลักลอบขนยาเสพติด เป็นต้น
ในช่วง 2 ปี ข้างหน้า แอฟริกาใต้จะทำหน้าที่ประธานของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และจะเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดะหว่างมิตรประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ความสำเร็จคงขึ้นอยู่กับความร่วมมือและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มด้วย สำหรับบทบาทของแอฟริกาใต้ต่อภูมิภาคฯ เป็นสำคัญ ในการนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้เห็นพ้องที่จะเป็นประตูไปสู่ภูมิภาคของแต่ละฝ่าย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเซียและแอฟริกาต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ เห็นว่า การย้ำในจุดยืนดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อประชาชนในประเทศทั้งสอง สำหรับแอฟริกาใต้เองกำลังเร่งปรับปรุงระบบเศรษฐกิจของตน ภายหลังจาการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเข้มงวดมาเป็นเวลานานซึ่งจะช่วยให้ภาวะทางเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้เป็นไปในด้านบวกมากขึ้น รวมทั้งไทย และเห็นว่าจะบรรลุผลสำเร็จในที่สุด
ในปัจจุบันประเทศไทยและแอฟริกาใต้ได้ร่วมกันจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นภาษีเชิงซ้อน และการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันแล้ว นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาร่างความตกลงด้านการค้าที่เสนอโดยฝ่ายแอฟริกาใต้
ในการนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้ แสดงความปรารถนาที่จะได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ณ กรุงพริทอเรีย เพื่อร่วมหารือกันในรายละเอียดของประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแจ้งว่า ยินดีร่วมมือกับแอฟริกาใต้ในด้านการค้า และด้านอื่น ๆ และปรารถนาที่จะเดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับกรณีที่ประเทศไทยประสงค์เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในเขตริมมหาสมุทรอินเดีย (India Ocean Rim-IOR) นั้น นายกรัฐมนตรีได้ขอให้แอฟริกาใต้ให้ความสนับสนุนประเทศไทยในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้เห็นว่า ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นทำหน้าที่พิจารณาขอบเขตและหลักการในการรับสมาชิกใหม่
ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้มาร่วมการประชุม Asia-Africa Forum ณ กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2540 เพื่อประโยชน์ในการขยายความร่วมมือระหว่างกัน
อนึ่ง โดยที่แอฟริกาใต้กำลังเน้นการปรับปรุงและพัฒนาเศรษฐกิจของตน จึงมีการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายด้านต่างประเทศต่อจีนที่แตกต่างไปจากเดิม โดยในปลายปีนี้ แอฟริกาใต้จะเปลี่ยนแปลงการรับรองรัฐบาลไต้หวันมาเป็นการรับรองรัฐบาลจีนแทน ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจของตน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ