กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ (วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา)
การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่
สาเหตุการสูบบุหรี่และปัจจัยที่ส่งผลให้เลิกสูบบุหรี่ของกลุ่มเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร
สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์เผยเยาวชน ร้อยละ 6.34 เคยลองสูบบุหรี่
ที่มาของโครงการ
วันที่ 31 พฤษภาคมได้รับการประกาศให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกโดยองค์การอนามัยโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 หรือ พ.ศ.2531 ทั้งนี้เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้เล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลก ตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม
วันงดสูบบุหรี่โลก การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้มีโอกาสเกิดโรคบางโรคมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ จำนวน 6 ล้านคน บุหรี่ยังทำให้เสียทรัพย์โดยไม่จำเป็นอีกด้วย
องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ จึงกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก
สำหรับในประเทศไทย เริ่มมีการรณรงค์การงดสูบบุหรี่อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เป็นต้นมา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยทำให้จำนวนประชากรที่สูบบุหรี่ในประเทศไทยมีอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลสถิติในปี พ.ศ.2534 ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ 12.26 ล้านคน จากประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 38.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32 แต่ในปี พ.ศ.2554 มีผู้สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน จากประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 53.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21.4 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้มีการงดสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องและสถิติจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่รายใหม่ก็ยังมีอัตราเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 15.24 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดในการติดบุหรี่และอายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่ก็ลดลงตามไปด้วย โดยในปี พ.ศ.2550 อายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่อยู่ที่ 16.8 ปี แต่ในปี พ.ศ.2554 ลดลงไปที่ 16.2 ปี ซึ่งในปี พ.ศ.2554 มีเยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี ติดบุหรี่กว่า 1.6 ล้านคน
ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม พ.ศ.2556 นี้ คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมในการสูบบุหรี่ สาเหตุที่ทำให้สูบบุหรี่ และปัจจัยที่ส่งผลให้เลิกสูบบุหรี่ ของกลุ่มเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร
จากการสำรวจสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 15 — 25 ปี ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 60.34 เคยทดลองสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 มวน โดยกลุ่มที่เคยทดลองสูบบุหรี่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามที่เคยทดลองสูบบุหรี่นั้น ปัจจุบันยังสูบบุหรี่อยู่คิดเป็นร้อยละ 41.20 หรือคิดเป็นร้อยละ 24.86 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างไม่ทดลองสูบบุหรี่ในระดับมากที่สุด 3 ปัจจัย ได้แก่ กลัวสมาชิกในครอบครัว/ครูอาจารย์ตำหนิ ทราบถึงโทษของบุหรี่ และไม่กล้าทดลอง ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลให้สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ในระดับมากที่สุด 3 ปัจจัย คือ สมาชิกในครอบครัว/เพื่อนขอร้องให้เลิกสูบ เริ่มตระหนักถึงโทษจากการสูบบุหรี่ และการสูบบุหรี่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนหรือการทำงาน ส่วนสาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างยังสูบบุหรี่อยู่ในปัจจุบันสูงที่สุดคือติดจนเลิกสูบไม่ได้ และช่วยลดความเครียด กลุ่มตัวอย่างที่ยังสูบบุหรี่อยู่ร้อยละ 48.31 ตั้งใจจะเลิกสูบภายใน 1-2 ปี และร้อยละ 29.59 ตั้งใจจะเลิกสูบในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2556 นี้
สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ (วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา)
เลขที่ 46 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
โทร.0 2878 5001-3 http://www.siamtechu.net
ติดต่อ:
ฝ่ายแนะแนวและประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
โทร.0 2878 5001-3