กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กรมควบคุมโรค
จากสถิติของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค พบว่า คนไทยมีแนวโน้มการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันเพิ่มจากปี 2552 ถึง 500,000 คน โดยมีผู้สูบบุหรี่ทุกชนิดรวม 13 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่จากโรงงานมากที่สุด 5.1 ล้านคน รองลงมาคือบุหรี่มวนเอง 4.7 ล้านคน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือพบว่า สถานที่ที่คนไทยสูดควันบุหรี่มือสองมากที่สุดคือในตลาดสดหรือตลาดนัดร้อยละ 68.8 ในบ้านร้อยละ 36 และที่ทำงานร้อยละ 30.5 เป็นผู้ชายร้อยละ 46.6 ผู้หญิงร้อยละ 2.6 ที่สำคัญยังพบว่า เยาวชนไทย อายุ 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่เร็วขึ้น จากปี 2550 เริ่มสูบที่อายุเฉลี่ย 16.8 ปี มาในปี 2554 เริ่มสูบที่อายุเฉลี่ย 16.2 ปี
ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภัยร้ายแรงแก่ผู้สูบ ทั้งโรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ รวมทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงทารกในครรภ์ในกรณีที่ผู้สูบกำลังตั้งครรภ์ และยังเป็นผลร้ายแก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกับผู้ที่สูบ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคบางโรคมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่นๆอีกหลายโรค ซึ่งรายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า บุหรี่เป็นสาเหตุทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตปีละกว่า 6 ล้านคนหรือเฉลี่ยนาทีละประมาณ 11 คน ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้เสียชีวิตปีละเกือบ 50,000 คน เฉลี่ย 1 คนในทุก ๆ 10 นาที อันดับ 1 คือการเสียชีวิตจากโรคถุงลมปอดโป่งพอง รองลงมาคือมะเร็งปอด ตามด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมที่ไร้ควันบุหรี่ เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2556 นี้ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2556 ได้มีการกำหนดคำขวัญรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกว่า “ไม่ใช้ ไม่รับ ไม่สนับสนุนโฆษณายาสูบร้าย ทำลายชีวิต” (Ban Tobacco Advertising, Promotion and Sponsorship) เพื่อให้นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทย เกิดการรณรงค์และส่งเสริมให้สังคมรู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่การสร้างกระแสปลุกจิตสำนึกให้สังคมร่วมมือกัน ไม่สนับสนุนกลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ และรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันเฝ้าระวังกิจกรรมการสื่อสารการตลาด กิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ แอบแฝงของอุตสาหกรรมยาสูบ หรือบริษัทบุหรี่ต่างๆ (CSR : Corporate Social Responsibility) ในประเทศไทย และนำข้อมูลข่าวสารนั้นมาเปิดโปงให้คนไทยได้รู้เท่าทัน กลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการเสพติดบุหรี่และจะหยุดยั้งการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ต่อไป โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้มอบ “รางวัล WHO Director-General Special Recognition Awards” ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษสำหรับผู้มีผลงานดีเด่นในการสนับสนุนการควบคุมยาสูบระดับโลกให้แก่ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งทั่วโลกมีผู้ได้รับรางวัลดังกล่าวเพียง 2 รายเท่านั้น ส่วนอีกรายคือ Mr. Paul Kasereka Lughembe จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (The Democratic Republic of Congo)
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า การสร้างสังคมไทยที่ปลอดจากควันบุหรี่ นอกจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับ พ.ศ. 2535 แล้ว กระทรวงสาธารณสุขภายใต้การกำกับดูแลของนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้มีการพิมพ์ฉลากรูปภาพ และข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในรูปแบบสี่สี ขนาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ลงบนซองบุหรี่ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งนับเป็นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจัดพิมพ์ 10 แบบคละกัน รวมทั้งพิมพ์ช่องทางติดต่อ เพื่อการเลิกยาสูบคือหมายเลขโทรศัพท์ 1600 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2556 นี้ การใช้คำเตือนพิษภัยบุหรี่ที่เป็นภาพขนาดใหญ่ครั้งนี้ จะใช้เป็นแหล่งสื่อสารข้อมูลถึงประชาชนเรื่องความเสี่ยงภัยหรือผลกระทบจากการสูบบุหรี่ และช่วยกระตุ้นนักสูบให้คิดเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตหรือนำเข้าบุหรี่ทุกรายจะต้องปฏิบัติตาม โดยรับต้นแบบภาพที่กรมควบคุมโรคเท่านั้น
โดยขณะนี้กรมควบคุมโรคได้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจผู้ประกอบการทุกราย เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวเดียวกันทั่วประเทศ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้จะมีโทษปรับไม่เกิน100,000 บาท และผู้จำหน่ายบุหรี่ที่ไม่ได้แสดงฉลากตามที่กำหนดไว้มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่จะมีการผ่อนผันให้บุหรี่ที่ผลิตหรือนำเข้าก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2556 อนุญาตให้จำหน่ายได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2556
“การเลิกสูบบุหรี่แม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ถ้าหากผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่มีความตั้งใจจริงและมีความพยายามก็จะสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างถาวร โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้คือ ขอคำปรึกษาจากผู้ที่เชี่ยวชาญหรือบุคลากรทางการแพทย์ หากำลังใจจากคนใกล้ชิด เพื่อจะได้รับการช่วยเวลาที่ต้องต่อสู้กับอาการขาดนิโคติน วางเป้าหมายไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการเลิกสูบบุหรี่และการปฏิบัติตนขณะเลิกสูบบุหรี่ ลงมือปฏิบัติโดยการทิ้งบุหรี่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถือคำมั่น ไม่หวั่นไหว ต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวกับคำล้อเลียนหรือคำชักชวน ห่างไกลสิ่งกระตุ้น เช่น การดื่มกาแฟ ดื่มแอลกอฮอล์แล้วต้องสูบบุหรี่ ควรงดหรือเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ ไม่หมกมุ่นกับความเครียด จัดเวลาสำหรับการออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 15-20 นาที ไม่ท้าทายบุหรี่ อย่าคิดว่าลองแค่เพียงมวนเดียว เพราะจะทำให้หวนกลับไปติดได้อีก และอย่าท้อใจถ้าต้องเริ่มต้นใหม่ขอให้พยายามและทำให้สำเร็จ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวแนะนำในตอนท้าย
ติดต่อ:
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386