กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--PR Network
กระแส FTA ไทย-ชีลี กำลังมาแรง วันนี้เราจึงขอเกาะกระแสกันสักหน่อย ก่อนที่จะมีการลงนามความตกลงอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้
และเพื่อประโยชน์ทางด้านการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ก่อนอื่นเราก็ต้องมาทำความรู้จักกับประเทศว่าที่คู่ค้าเสรี อย่าง “ชิลี” กันก่อน ว่าทำไมวันนี้เค้ากลายเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และเป็นประเทศที่ได้มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีมาแล้วทั้งหมด 19 ฉบับ กับ 55 ประเทศทั่วโลก
ประเทศ “ชิลี” เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายอย่างไม่สิ้นสุด จนผู้ที่ได้ไปเยือนต้องแปลกใจ ด้วยลักษณะของภูมิประเทศที่ยาวโดดเด่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ด้านทิศตะวันออกมีเทือกเขาแอนดิสทอดยาวจากเหนือจรดใต้ ระหว่างกลางของเทือกเขากับมหาสมุทรเป็นที่ราบลุ่มแคบๆ ทางเหนือพื้นที่จะค่อยๆ สูงขึ้น และแห้งแล้งมากขึ้น พื้นที่ภาคกลางเป็นหุบเขายาวที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนตอนใต้เป็นป่าดึกดาบรรพ์และทะเลสาบ
ชาวพื้นเมืองชิลีมีความเชื่อว่า เมื่อพระเจ้าสร้างโลกเสร็จสิ้นแล้ว ทรงพบว่าพระองค์มีสิ่งต่างๆ หลงเหลืออยู่อย่างละเล็กละน้อย เช่น แม่น้ำ ภูเขาไฟ ทะเลสาบ เทือกเขา ทะเลทราย ฟยอร์ก ธารน้ำแข็ง ฯลฯ ครั้นจะโยนทิ้งไปก็เสียดาย จึงจับสิ่งเหล่านั้นมากองไว้ที่มุมโลก และกลายเป็น “ชิลี” นั่นเอง
คำว่า “ชิลี” ตามตำนานมาจากชื่อหัวหน้าเผ่าอารูคาเนียนคนหนึ่งที่มีนามว่า ทิลี (Tili) ซึ่งสามารถต่อต้านการบุกรุกของพวกอินคาได้ ขณะที่บางตำนานอ้างว่า คำว่า “ชิลี” มาจากภาษามาปูเช แปลว่า “ที่ซึ่งสุดแผ่นดิน” “จุดที่อยู่ลึกที่สุดของโลก” หรือ “นกนางนวล” รวมทั้งมาจากการเลียนเสียง “ชีลี-ชีลี”(cheele-cheele) ของนกชนิดหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ชาวสเปนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาในชิลีบันทึกว่า ชนพื้นเมืองในดินแดนแห่งนี้เรียกตัวเองว่า “ชนแห่งชิลี”
ถึงแม้ชิลีจะเป็นเพียงแผ่นดินแคบๆ ซึ่งมีพื้นที่เพียง 756,950 ตารางกิโลเมตร และมีส่วนที่กว้างที่สุดเพียง 240 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่น ซึ่งมีเทือกเขาแอนดิสทอดยาวจากเหนือจรดใต้ ทำให้ภาคการเกษตรของชิลีปลอดภัยจากโรคและศัตรูพืชต่างๆ จากประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด ทางตอนเหนืออุดมไปด้วยเหมืองแร่และทรัพยากรทางทะเล ทางภาคกลางของประเทศนอกจากจะเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของการกสิกรรมและอุตสาหกรรม ทางใต้อุดมไปด้วยการประมงและทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งได้มีการจัดการภายใต้การอนุรักษ์และมาตรฐานการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ประชาชนกว่า 17 ล้านคนเต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถและศักยภาพทางธุรกิจ ตลอดจนการสนับสนุนจากภาครัฐที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง วันนี้ชิลีจึงได้กลายเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงในอันดับต้นๆ ของลาตินอเมริกา
การเติบโตทางเศรษฐกิจของชิลี มาจากการส่งออกเป็นสาคัญ คิดเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 40 ของ GDP โดยมีทองแดงเป็นสินค้าส่งออกสาคัญคิดเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 3 ของรายได้ภาครัฐ เนื่องจากชิลีมีกิจการการผลิตทองแดงของรัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ CODELCO (Corporacion Nacional de Cobre de Chile) ประกอบกับระดับราคาที่สูงของทองแดงในตลาดโลก นอกจากนี้ ยังมีการขยายตัวของการส่งออกในสินค้าอื่นๆ อาทิ ไม้ ผลไม้ อาหารสาเร็จรูป ปลา อาหารทะเล และไวน์ และการมีข้อตกลงทางการค้า FTA กับประเทศคู่ค้าสาคัญ ส่งผลให้เศรษฐกิจของชิลีโดยเฉพาะภาคการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในเอเชีย ซึ่งนับเป็นตลาดใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ของชิลี ในปี 2553 — 2554 มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 27% สู่ระดับ 352,652 ตัน ตามหลังสหรัฐอเมริกา 909,303 ตัน, ยุโรป 711,814 ตัน และละตินอเมริกา 518,971 ตัน และสำหรับประเทศไทยแล้ว ชิลีถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยในภูมิภาคอเมริกาใต้ รองจากบราซิล และอาร์เจนตินา โดยในช่วงปี 2549 - 2553 การค้าระหว่างไทยกับชิลีมีมูลค่าเฉลี่ยราวปีละ 552.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.17 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกผลไม้ของชิลีก็มีอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศชิลี
นายไฮเม่ ริเวร่า (Mr. Jaime Rivera) ผู้อำนวยการคณะกรรมมาธิการการค้าชิลีประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กรมส่งเสริมการส่งออกชิลี สถานฑูตชิลี กล่าวว่า “การขยายตัวของตลาดผลไม้ของชิลีส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการเพิ่มความหลากหลายของตลาดส่งออกผลไม้ของชิลี ที่ไม่ได้พึ่งพาเฉพาะตลาดดั้งเดิมอย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปเท่านั้น และการขยายตัวดังกล่าว ยังเป็นผลมาจากกระบวนการผลิตผลไม้บางประเภทที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับราคาผลไม้ในตลาดโลกที่ดีขึ้นด้วย
ซึ่งตลาดส่งออกผักและผลไม้ที่สำคัญของชิลีในปี 2555 คือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 4.3 ตามมาด้วยเม็กซิโก มีมูลค่า 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 8.3 และญี่ปุ่น มีมูลค่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 20.1”
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผลไม้ของชิลีได้รับการยอมรับไปทั่วโลก คือ การที่ชิลีได้เข้าร่วมงานสำคัญๆ ในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ งาน Asia Fruit Logistica ซึ่งมีบทบาทสำคัญในทวีปเอเชีย และเป็นเวทีที่ทำให้ผู้ซื้อผลไม้ของชิลีมีความมั่นใจในชิลีมากขึ้น ในฐานะผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงสุดที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้
นอกจากนี้ การส่งออกผลไม้ของชิลีที่ได้ขยายตัวขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในเอเชียนั้น เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผลไม้ของชิลีเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ด้วยการนำเสนอผ่านภาพลักษณ์แบรนด์ ‘Fruits from Chile’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดใหม่ที่พัฒนาโดยอุตสาหกรรมผลไม้ของชิลี
นายไฮเม่ กล่าวเสริมอีกว่า “กลยุทธ์ดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นจากปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ชิลีกลายเป็นผู้นำระดับโลกในการส่งออกผลไม้ อาทิ แหล่งผลิตคุณภาพเยี่ยม ผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศ และทักษะแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ผลไม้ของชิลีสามารถเจาะตลาดเป้าหมายหลักๆ ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการรักษาคุณลักษณะเด่นของแต่ละอุตสาหกรรมไว้ โดยตั้งแต่ปี 2555 และในปี 2556 นี้ ชิลีมีแผนที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่แบรนด์นี้สู่กลุ่มผู้ซื้อและผู้จัดจำหน่ายในอุตสาหกรรมผลไม้ของเอเชีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป”
ด้วยเหตุผลและหลักการทำงานที่ประสานความร่วมมือกันเป็นอย่างดีของภาครัฐ ภาคเอกชนตลอดจนประชาชนของชิลี ส่งผลให้ขณะนี้ ชิลีได้กลายเป็นผู้ส่งออกผลไม้ อาทิ บลูเบอร์รี่ องุ่น พลัม แอปเปิ้ลแห้ง พลัมแห้ง และอาหารทะเลอย่าง ปลาเทราท์ แซลมอน (แปซิฟิก) ที่สำคัญของโลกไปแล้ว