วธ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สัญจร

ข่าวทั่วไป Monday June 3, 2013 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สัญจร ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม — ๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามโครงการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม เพื่อให้เกิดมาตรการและกลไกในการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการดำเนินโครงการดังกล่าวใน ๔ ระยะ คือ ระยะที่ ๑ การพัฒนาคู่มือสำหรับทำงานในพื้นที่ ระยะที่ ๒ การจัดประชุมถ่ายทอดองค์ความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม ใน ๔ ภาค ระยะที่ ๓ การขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมในพื้นที่นำร่องของแต่ละจังหวัด ระยะที่ ๔ การสรุป ถอดบทเรียน และรายงานผล สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานในระยะที่ ๒ โดยกลุ่มจังหวัดภาคใต้เป็นการประชุม ครั้งที่ ๓ ซึ่งมีจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายสุระ เตชะทัต) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง อาทิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (นายเอนก สีหามาตย์) รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (นายสุรพล พนัสอำพล) และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม การจัดประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก ๑๔ จังหวัดภาคใต้ จังหวัดละ ๑๐ คน ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ทำงานในจังหวัด อาทิ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สาธารณสุขจังหวัด สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวัฒนธรรม สภาเด็กและเยาวชน ผู้แทนสื่อ ผู้นำศาสนา ปราชญ์ท้องถิ่น และผู้ประกอบกิจการร้านเกม รวมทั้งสิ้น ๑๔๐ คน โดยมีวิทยากรให้ความรู้และฝึกทักษะให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ (๑) รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล และทีมงานจากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล (๒) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต (๓) นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมงานจากสถาบันฯ (๔) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การประชุมในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมมีความคาดหวังว่า จะสามารถการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงฯ และบุคลากรของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แต่ละจังหวัด ให้มีองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคของการทำงานร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมในจังหวัด อันจะก่อให้เกิดกลไก การทำงานร่วมกัน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมที่มีประสิทธิภาพเด็กและเยาวชน รวมถึงการพัฒนาให้มีภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันเกมหรือสื่อต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ