กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--เซ็นเตอร์พอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จัดแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรใหม่ “การจัดการมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชาการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Master of Management in Healthcare and Wellness Management” เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของผู้บริหารจัดการมืออาชีพในธุรกิจสุขภาพ จึงกลายเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 คณะจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ วิทยาลัยการจัดการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มุ่งผลิตนักบริหารชำนาญการรองรับตลาดธุรกิจสุขภาพที่สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆและบริหารองค์กรให้มีประสิทธิผล พร้อมจัดงานสัมมนาเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสุขภาพของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “Healthcare in Turbulent times. What is the new role of the healthcare professionals?” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิแห่งวงการสุขภาพของเมืองไทยขึ้นมาร่วมอภิปรายในประเด็นที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ ชูจุดแข็งสร้างไทยเป็นเมดิคอลฮับ (Medical Hub) ของอาเซียนหลังการเปิดเออีซีในปีพ.ศ.2558 ที่กำลังจะมาถึง
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ทราบดีว่า ในปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ถือเป็นโอกาสอันดีของทุกภาคส่วนรวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ในระดับสากล เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ เตรียมความพร้อมที่จะเป็น Academic Medical Hubด้วยการเพิ่มความเข้มแข็งของเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัย ในการบูรณาการความรู้ของแต่ละสหสาขาวิชา เช่น แพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ การจัดการ การบริหารธุรกิจ เพื่อสร้างคุณภาพและความเป็นเลิศแก่บัณฑิตในทุกมิติ
รองศาสตราจารย์ ดร.อรรณพ ตันละมัย คณบดี วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ปัจจุบัน ธุรกิจสุขภาพกำลังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เพราะคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากขึ้น ประกอบกับนโยบายของภาครัฐบาล ที่มีการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพในอาเซียน หรือที่เรียกว่า Medical Hub ทำให้อุตสาหกรรมธุรกิจสุขภาพมีความโดดเด่นในแง่ของการเติบโต และแตกต่างจากธุรกิจด้านอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังมีกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism* โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศประมาณ 20 ล้านคน กว่า10% หรือประมาณ 2.5 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเชิงการรักษา ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมธุรกิจสุขภาพและการรักษาพยาบาลของประเทศไทย เพราะเป็นโอกาสอันดีที่จะผลักดันให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนเพิ่มเพิ่มมากขึ้น
รองศาสตรจารย์ ดร.อรรณพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยนั้น ได้แก่ ประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงตะวันออกกลาง มีการคาดการณ์ว่าในปี 2558 หรือหลังการเปิด เออีซีแล้ว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท** และตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ*** จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น และจะเข้าสู่สังคมสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2567 แสดงให้เห็นว่าความต้องการทางด้านสุขภาพในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสุขภาพในประเทศไทย
ศาสตราจารย์นายแพทย์ วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรที่น่าสนใจเกิดขึ้น และนับเป็นทางเลือกที่ดี ในการเสริมทักษะด้านการบริหารจัดการให้แก่ผู้ที่อยู่ในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข เพราะปัจจุบัน แต่ละองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ต้องมีความเชี่ยวชาญในทุกมิติ การแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศก็มีมากขึ้น บุคลากรและองค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ความร่วมมือจาก 3 คณะ ภายใต้รั้วมหิดล ได้สร้างหลักสูตรใหม่อันจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรในอุตสาหกรรมธุรกิจสุขภาพ ที่ต้องการศึกษาหาความรู้ในด้านการจัดการและบริหารธุรกิจสุขภาพแบบบูรณการ เพื่อจะนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปรารถนา ปุณณกิติเกษม ประธานหลักสูตรฯ กล่าวว่าหลักสูตร “การจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Master of Management in Healthcare and Wellness Management” เป็นหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาโท ที่มุ่งผลิตผู้บริหารหรือบุคลากรในองค์กรธุรกิจสุขภาพ ให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเน้นให้ผู้เรียนมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะ ผู้บริหารหรือบุคลากรที่ผ่านการเรียนจากหลักสูตรนี้ จะนำพาองค์กรให้สามารถปรับตัวเพื่อรองรับกับความต้องการในอนาคตได้ เพราะเป็นการเตรียมความพร้อม ทั้งในด้านการบริหารคน บริหารการเงิน บริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ หรือแม้กระทั่งการตลาดที่จะต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างแท้จริงอีกด้วย โดยรายวิชาถูกออกแบบให้ผู้เรียนมองธุรกิจสุขภาพเชิงบูรณาการ หรือมองแบบองค์รวม หรือ Holistic Approach พร้อมส่งเสริมให้ผู้เรียนนำแนวคิด Innovative thinking นำแนวคิดการจัดการสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและบริหารองค์กรให้มีประสิทธิผล สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น กลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรนี้ คือผู้ที่ทำงานอยู่ในธุรกิจสุขภาพหรือผู้ที่สนใจจะทำงานในธุรกิจสุขภาพ ทั้งในโรงพยาบาล คลินิกต่างๆ รวมถึงฝ่ายสนับสนุน เช่น ฝ่ายไอที ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงิน ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจสุขภาพ เช่น สปา คลินิกความงาม ฯลฯ บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ บริษัทยาและเวชภัณฑ์ บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ ฯลฯ โดยหลักสูตรนี้จะรับนักศึกษาทั้งสิ้น 30 คนต่อหลักสูตร ระยะเวลาเรียนทั้งสิ้น 18 เดือน เปิดภาคเรียนในเดือนกันยายน 2556 นี้
สำหรับผู้ที่สนใจหลักสูตรการจัดสุขภาพแบบองค์รวม สามารถดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://inside.cm.mahidol.ac.th/healthcare/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2206-2000
ข้อมูลเพิ่มเติมในข่าวประชาสัมพันธ์
* ในปี 2555 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทย 140,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นรายได้สะพัดสู่โรงพยาบาลเอกชน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะตลาดอาเซียน ประมาณการว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากตลาดอาเซียนสร้างรายได้ให้ประเทศไทยกว่า 5,400 ล้านบาท (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
** ข้อมูลจากบีบีซี http://www.bbc.com/travel/feature/20120828-the-rise-of-medical-tourism-in-bangkok
*** สังคมผู้สูงอายุคือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ / สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเกินร้อยละ 20 และอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ