กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กสทช.
“สุทธิพล” เปิดเกมส์รุก บุกบรัสเซลส์ ถกเครียดประเด็นประมูลคลื่นกับหน่วยงานโทรคมนาคมของอียู เคลียร์ประเด็นประกาศครอบงำฯ สำเร็จ “อียู-เบลเยี่ยม” ทึ่ง...! ประมูล 3 จีไทย พร้อมยืนยันการประมูลแบบมุ่งราคาประมูลสูงๆมีแต่ผลเสีย ยกบทเรียนพิสูจน์ความเสียหาย กระทบผู้บริโภคโดยตรง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ 20-23 พฤษภาคม 2556 เพื่อประชุมหารือกับหน่วยงานทางด้านโทรคมนาคมของสหภาพยุโรป และองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศเบลเยี่ยม โดยได้เข้าประชุมหารือกับ Ms. Linda Steneberg Corugedo ผู้อำนวยการความร่วมมือระหว่างประเทศ และทีมงานบริหารของ DG CONNECT ซึ่งเป็นกลุ่มงานด้านโทรคมนาคมของสหภาพยุโรป (อียู) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและติดตามการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศสมาชิกอียู ให้เป็นไปตามกฎระเบียบโทรคมนาคมที่สหภาพยุโรปบัญญัติไว้ ซึ่งประเด็นหลักที่หารือ คือ การสร้างความเข้าใจกับกลุ่มประเทศอียู เนื่องจากอียูได้รับการร้องเรียนจากประเทศนอร์เวย์ เกี่ยวกับ ประกาศ กสทช. เรื่องข้อห้ามการกระทำที่เป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าวฯ โดยผลจากการอธิบายและชี้แจงข้อมูล ตลอดจนเหตุผลต่างๆทำให้ทางอียูมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และกล่าวว่าไม่ติดใจในประเด็นนี้
สำหรับหน่วยงานที่สองที่เข้าประชุมหารือ คือ Independent Regulators Group (IRG) โดยได้เข้าหารือกับ Dr. Leonidas Kanellos ซึ่งเป็นประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมของกรีซและได้รับเลือกเป็นประธาน IRG และประธาน BEREC โดย IRG เป็นการรวมกลุ่มของประธานองค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมของประเทศ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปทั้งหมด และ BEREC เป็นการรวมกลุ่มของประธานองค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมของประเทศที่เป็นสมาชิกอียู สำหรับประเด็นที่เน้นในการหารือครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาอุปสรรคและแนวปฎิบัติที่ดีที่สุดในการจัดประมูลคลื่นความถี่ โดยประธาน BEREC ย้ำว่าความสำเร็จในการจัดประมูล 3 จี ของไทยจะเป็นก้าวที่สำคัญในการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz นอกจากนี้ยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างกลไกการรวมกลุ่มองค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมในระดับอาเซียน โดยศึกษาจากรูปแบบของอียู ทั้งนี้เนื่องจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะเข้าสู่ตลาด AEC ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลทางด้านโทรคมนาคมของกลุ่มอาเซียน โดยหากมีการสร้างกลไกในลักษณะเดียวกับ BEREC จะทำให้ง่ายต่อการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมของประเทศสมาชิกที่มีระหว่างกัน และจะช่วยในการกำหนดนโยบายด้านโทรคมนาคมในระดับภูมิภาคอีกด้วย
หน่วยงานที่สามที่เข้าหารือ คือ European Telecommunications Network Operators’ Association (ETNO) หรือสมาคมผู้ประกอบการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของยุโรป โดยได้เข้าหารือกับ Mr. Daniel Pataki ผู้อำนวยการฯ ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมของฮังการี และหน่วยงานที่สี่ที่เข้าหารือ คือ European Competitive Telecommunications Association (ECTA) หรือสมาคมผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่และผู้ประกอบการรายย่อยของยุโรป โดยเข้าหารือกับ Ms. Erzsebet Fitori ผู้อำนวยการฯ โดยประเด็นหลักในการหารือ คือ การส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งผลจากการมีสมาคมแยกเป็นสองระดับ ทำให้สามารถสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละระดับ โดยทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่ถูกครอบงำโดยผู้ประกอบการรายใหญ่
หน่วยงานที่ 5 ที่เข้าหารือ คือ Belgian Institute for Postal Services and Telecommunications (BIPT) หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเบลเยี่ยม โดยได้เข้าหารือกับ Mr. Michel Van Bellinghen และคณะ ซึ่งเป็นกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเบลเยี่ยม โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การประมูลคลื่นความถี่ 3จี นอกจากนี้ยังได้หารือข้อราชการที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมและสหภาพยุโรปกับ นายอภิชาต ชิณวรรโณ เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยี่ยมและสหภาพยุโรปอีกด้วย
ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดคือเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งทุกหน่วยงานในสังกัดอียู ยืนยันตรงกันว่า การประมูลคลื่นความถี่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้เข้ารัฐโดยการทำราคาประมูลให้สูงที่สุดดังเช่นที่อังกฤษและเยอรมันทำได้ในช่วงปี 2000 และ 2001 นั้นเป็นเรื่องที่มีแต่ผลเสีย ซึ่งผลการประมูลดังกล่าวได้ทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้บริโภคมากมายไม่ว่าจะเป็นการล้มละลายของบริษัท หรือการที่ผู้ประกอบการผลักภาระให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการในอัตราที่สูง ทั้งนี้ ล่าสุดอียูได้กำหนดนโยบายของอียู ในการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งในด้านโทรคมนาคมและด้านกระจายเสียงฯ ว่าหลักการประมูลคลื่นความถี่ คือการจัดกระบวนการจัดสรรคลื่นที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่จะต้องออกแบบเพื่อไม่ให้ราคาประมูลสูงเกินไป โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประเทศสาธารณรัฐเชค ได้มีการหยุดและยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่กระทันหัน เนื่องจากผู้ประมูลเริ่มให้ราคาที่สูงเกินไป
สำหรับในกรณีของเบลเยี่ยมเองได้มีการประมูล 3จี ไปตั้งแต่ปี 2001 โดยต้องการจัดสรรใบอนุญาตจำนวน 4 ใบ แต่มีผู้เข้าประมูลแค่ 3 ราย โดยบริษัทรายใหญ่ประมูลได้ในราคาสูงกว่าราคาตั้งต้นเล็กน้อย และอีก 2 ราย ประมูลได้ในราคาตั้งต้น ซึ่งทาง BIPT ได้พยายามหาวิธีชักจูงให้มีผู้ประกอบการรายที่ 4 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งสิบปีต่อมาคือในปี 2011 มีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นและสนใจจะใช้คลื่น 3จี BIPT จึงได้จัดการประมูลใบอนุญาต 3จี อีกหนึ่งใบที่เหลือซึ่งปรากฎว่ามีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว ทั้งนี้ผลปรากฎว่าผู้ประกอบการรายใหม่รายนี้ได้ใบอนุญาตไป โดยนอกจากจะประมูลได้ในราคาตั้งต้นแล้ว ยังได้รับแต้มต่อในฐานะผู้ประกอบการรายใหม่ โดย BIPT พึงพอใจกับผลการประมูลมาก เพราะมองว่าการมีผู้นำคลื่นไปใช้งานดีกว่าปล่อยทรัพยากรทิ้งไว้เฉยๆ นอกจากนี้ BIPT และ IRG ได้แสดงความเป็นห่วงต่อแนวคิดของบางกลุ่มในประเทศไทยที่สนับสนุนวิธีการ N-1 โดยต้องการจัดประมูลเพื่อให้ได้ราคาสูง ซึ่งแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ N-1 นี้ ยังสอดคล้องกับความเห็นของ Dr. Pataki อดีตประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมของฮังการี ที่เห็นว่าควรเน้นที่การเพิ่มจำนวนผู้รับใบอนุญาต มิใช่ไปลดจำนวนใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นการแทรกแซงกลไกของตลาด จึงเห็นว่าแทนที่จะใช้วิธีการ N-1 ควรจะใช้วิธีการ N+1 จะเหมาะสมมากกว่า ทั้งยังแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความเชื่อที่ว่าราคาการประมูลที่สูงจะไม่ส่งผลต่อผู้บริโภค พร้อมเสนอตัวที่จะมาบรรยายให้ความรู้เรื่องนี้ที่ประเทศไทย
ในด้านการกำกับดูแลของประเทศในอียูนั้น DG Connect ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในยุโรป ที่มี EU Directive เป็นตัวกำหนดและทุกประเทศจะต้องออกกฎ กติกา ให้เป็นไปตาม EU Directive ซึ่งที่ผ่านมาทุกประเทศให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้หากไม่ทำตามก็จะเป็นการขัดกับกฎหมายของอียู สำหรับในเรื่องการประมูลคลื่นอียูถือว่าการจัดสรรคลื่นเป็นสิทธิเสรีภาพของประเทศสมาชิก ที่จะจัดโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่หรือ Beauty Contest ก็ได้ อย่างไรก็ตามอียูได้กำหนดนโยบายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และจะคอยจับตามองเพื่อไม่ให้มีการออกแบบการประมูลคลื่นที่ทำให้ราคาการประมูลสูงเกินไป
“ การเดินทางร่วมประชุมและหารือกับหน่วยงานต่างๆในครั้งนี้ ถือว่าได้ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมทำให้มีโอกาสสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องกับผู้บริหารของอียูในเรื่องประกาศ กสทช. เรื่องข้อห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ทั้งยังได้มีโอกาสทราบนโยบายและแนวปฏิบัติที่เป็นปัจจุบันของอียูเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการประมูลคลื่นฯ ของอียู ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเรื่องการประเมินการจัดประมูล 3จี ของไทย ทำให้เป็นการยืนยันชัดเจนว่าแนวทางที่ กสทช. จัดประมูลและผลการประมูล 3จี ของไทยเดินมาถูกทางและถูกต้องตามกติกาสากลแล้ว ซึ่งจะได้นำข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาเป็นแนวทางในการจัดประมูลคลื่นความถี่ของไทยในครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานกำกับดูแลของอียู โดยทางอียูได้เชิญผมให้เข้าร่วมการประชุม และเป็นวิทยากรบรรยายถึงความสำเร็จในการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3จี ของประเทศไทย ให้กับองค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมของประเทศสมาชิกอียูในการประชุมระดับภูมิภาคของอียูในครั้งต่อไปอีกด้วย” ดร.สุทธิพลฯ กล่าวสรุป