กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"ยุทธพงศ์" เร่งพัฒนาเกษตรกรสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ พร้อมจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานตามความต้องการของผู้บริโภค หวังลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่เออีซี
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมเกษตรอินทรีย์ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง สู่ประชาคมอาเซียน” ณ โรงแรมตักสิลา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีเป้าหมายในการรณรงค์ส่งเสริมให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร เพื่อพัฒนาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ สร้างความเข้มแข็งให้เกิดในระบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนและระดับนานาชาติ โดยแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับล่าสุด ปี 2556-2559 กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน”
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นกระบวนการผลิตที่ใช้หลักความสมดุลตามธรรมชาติ มีการบริหารจัดการระบบการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขอนามัยของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภคภายในประเทศและการผลิตเพื่อการส่งออก โดยแนวโน้มในเรื่องการส่งออกผลผลิตเกษตรอินทรีย์ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ประเทศต่าง ๆ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ กว่า 100 ประเทศ มีความต้องการผลผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อการบริโภคเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตร และนโยบายรัฐบาลให้ภาคเกษตรเป็นครัวของโลก ประกอบกับดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรกรรม ประเทศไทยจึงมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิต
อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการค้าอาเซียนในปี 2558 นี้ เกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะอาชีพเกษตรกรรมคืออาชีพหลักของผู้คนส่วนใหญ่ในอาเซียน ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมจะเกิดการแข่งขันรุนแรงในเรื่องของราคาและต้นทุนการผลิตที่ต้องถูกลง ดังนั้น หากเกษตรกรไทยยังคงต้องพึ่งพาสารเคมี มีแนวโน้มว่าจะไม่มีตลาดรองรับสินค้าปนเปื้อนเหล่านี้ ทางออกของเกษตรกรไทยทางหนึ่ง คือ การลดต้นทุนการผลิต และผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน โดยการหันมาผลิตสินค้าในระบบปลอดภัยจากสารพิษ (มาตรฐาน GAP) หรือ หากเกษตรกรมีความพร้อม และมีศักยภาพให้ทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล และควรเน้นการผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้า คือเป็นอาหารปลอดภัย อาหารในระบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้กำหนดจัดงาน “มหกรรมเกษตรอินทรีย์ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง สู่ประชาคมอาเซียน” ขึ้น ในภาคต่าง ๆจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 1 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมตักสิลา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ครั้งที่ 2 วันที่ 8 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพีซลากูน่า รีสอร์ทแอนด์สปา อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ และครั้งที่ 3 วันที่ 14 - 16 มิถุนายน 2556 ณ ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์งานด้านเกษตรอินทรีย์ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ที่มีต่อระบบการเกษตรของชาติ และได้ทราบถึงผลการดำเนินงานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดมา
“การจัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ฯ ที่จังหวัดมหาสารคาม ในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งดำเนินการในลักษณะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัด องค์กรภาครัฐ เอกชน หมอดินอาสา เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายการทำเกษตรอินทรีย์ มาประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ผ่านกิจกรรมการรณรงค์และการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ พลิกฟื้นแผ่นดินไทย ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัย เกษตรกรรมไทยยั่งยืน นอกจากนั้น ได้จัดให้มีการพบกันระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลต่อการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ให้เกิดมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดแนวคิดในการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนก้าวสู่เวทีการแข่งขันในประชาคมอาเซียนและระดับนานาชาติ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน” นายยุทธพงศ์ กล่าว
อนึ่ง กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การจัดแสดงนิทรรศการเกษตรอินทรีย์ การจัดประชุมสัมมนาวิชาการ และการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าปลอดสารพิษ และสินค้า OTOP ต่าง ๆ อีกมากมาย