กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กรมธนารักษ์
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังมีนโยบายปรับปรุงบริเวณเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ โดยย้ายสถานที่หน่วยราชการต่างๆออกและนำอาคารหน่วยงานมาปรับปรุงเป็นแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศสร้างประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและรายได้เข้ารัฐนั้น กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการย้ายสำนักบริหารเงินตราที่มีหน้าที่หลักในการบริหารเหรียญกษาปณ์ให้เพียงพอแก่ความต้องการใช้เหรียญกษาปณ์ของคนทั้งประเทศ โดยรับเหรียญกษาปณ์ที่สำนักกษาปณ์ซึ่งตั้งอยู่ที่รังสิต จังหวัดปทุมธานีเป็นผู้ผลิต แล้วนำส่งมาที่สำนักบริหารเงินตราบริเวณเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ข้างวัดชนะสงคราม ถนนจักรพงษ์เพื่อบริหารจัดการกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคตามความต้องการ ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนย้าย ในการนี้กรมธนารักษ์โดยความเห็นชอบของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จึงย้ายสำนักบริหารเงินตราไปตั้งรวมอยู่ที่สำนักกษาปณ์ ซึ่งจะเป็นการประหยัดและลดขั้นตอนการดำเนินงาน เกิดความคุ้มค่า และยังเป็นการบริการประชาชนและลูกค้ารายใหญ่ที่มีความต้องการแลกเหรียญ ไม่ต้องเดินทางเข้ามาถึงส่วนกลาง เสียเวลาการจราจรและต้นทุนเดินทางเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และในส่วนพื้นที่เดิมนอกจากจะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เหรียญที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการเหรียญกษาปณ์ไทยที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้วยังจะมีการแสดงเหรียญกษาปณ์นานาชาติ และที่สำคัญยังมีการจัดให้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เพื่อการบริการแลก จ่ายเหรียญอีกด้วย
นายนริศ กล่าวเพิ่มเติมว่าในการย้ายสำนักบริหารเงินตราดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาตลอดเดือนพฤษภาคม ในการรื้อย้ายเครื่องมือ เครื่องจักรทั่วไปและเครื่องจักรพิเศษเพื่อไปติดตั้งที่ใหม่ การย้ายระบบงานต่างๆที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ติดตั้งโทรศัพท์ภายนอก 30 เลขหมายไว้รองรับการให้บริการ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการทุกอย่างแล้วเสร็จและได้เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีผู้เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก นอกจากนี้เมื่อไปใช้บริการที่สำนักบริหารเงินตราแห่งใหม่แล้วยังสามารถเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ของสำนักกษาปณ์ ซึ่งเป็นอีกแหล่งความรู้เกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เช่นเดียวกัน
นายนริศ กล่าวในตอนท้ายว่า การย้ายสำนักบริหารเงินตราครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อราชการ และประชาชนที่สามารถใช้บริการได้สะดวก ประหยัดยิ่งขึ้น และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังในการใช้ที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในเชิงสังคม และเศรษฐกิจ