กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ดังนี้:-
** หมายเหตุ วันที่ 27 พ.ค. 56 ตลาดสหรัฐฯเนื่องจากวันทหารผ่านศึก (Memorial Day) และ ตลาดอังกฤษปิดเนื่องจากวันหยุดธนาคาร (Spring Bank Holiday)
น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 102.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 93.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 99.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
น้ำมันเบนซินออคเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 115.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
น้ำมันดีเซล ลดลง 0.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในไตรมาสที่ 1/56 ครั้งที่ 2 เติบโตอยู่ที่ระดับ 2.4% เทียบกับปีก่อนหน้า น้อยกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อน 0.1%
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ค. 56 เพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้น 12.8% จากปีที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 397.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2474
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ค. 56 เพิ่มขึ้น 10,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 354,000 ราย
- IMF ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 56 จาก 8% (Y-O-Y) มาอยู่ที่ 7.8% (Y-O-Y)
- OPEC ตัดสินใจคงปริมาณการผลิตอยู่ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุม OPEC ที่กรุงเวียนนาในวันที่ 31 พ.ค. 56 ที่ผ่านมาโดบให้เหตุผลว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 56 ทั้งนี้ OPEC จะมีการประชุมครั้งตอไปในวันที่ 4 ธ.ค. 56
- สำนักงานสถิติ Eurostat รายงานอัตราว่างงานใน 17 ประเทศยูโรโซนเดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้นเป็น 12.2% สูงที่สุดนับตั้งแต่การสำรวจในปี พ.ศ. 2538 โดยการว่างงานในอิตาลีเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 36 ปี
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- Conference Board ของสหรัฐฯ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ในสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 76.2 จุด เพิ่มขึ้น 7.2 จุด จากเดือนก่อนหน้า เป็นระดับสูงสุดรอบ 5 ปี และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ประมาณการที่ 72 จุด ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods) ในเดือน เม.ย. 56 เพิ่มขึ้น 3.3% จากเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
- สำนักข่าว BBC รายงานเหตุการณ์ระเบิด Car Bomb ในกรุงแบกแดดเมืองหลวงของอิรักกว่า 12 ครั้ง ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 66 ราย ทั้งนี้อิรักประสบปัญหาการเมืองภายในประเทศจากความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมกลุ่ม Shi'at และ Sunni ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 700 รายในเดือน เม.ย. 56 และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจเชิงลบทั่วโลก อาทิ ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานล่าสุดของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นบ่งชี้ตลาดแรงงานยังไม่แข็งแกร่ง และ รายงานตัวเลข PMI Non-Manufacturing ของจีนที่รายงานโดยภาครัฐเดือน พ.ค. 56 ลดลงจากเดือนก่อน 0.2 จุดมาอยู่ที่ 54.3 จุด ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปซึ่งอยู่ในภาวะถดถอยยังคงถูกกดดันจากอัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. 56 ที่พุ่งสูงขึ้นถึง 12.2% ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั้งน้ำมันและหลักทรัพย์ นอกจากนี้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดอยู่ในระดับสูงโดยปริมาณ สำรองน้ำมันดิบในสหรัฐฯล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 397.6 MMB ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 82 ปี อีกทั้ง OPEC ตัดสินใจคงปริมาณการผลิตอยู่ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามพัฒนาการของสถานการณ์ในซีเรียที่คู่ขัดแย้งต่างเร่งสะสมอาวุธร้ายแรงและได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจเป็นปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มผลักดันราคาน้ำมันได้ในอนาคต ให้ติดตามการประชุมของธนาคารกลางยุโรปวันที่ 6 มิ.ย. ซึ่งจะเน้นการออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน และให้จับตาการประกาศอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในวันที่ 7 มิ.ย. เพราะมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนและส่งผลต่อทิศทางการกำหนดสัดส่วนปริมาณเงินอัดฉีดเข้าระบบตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE 3)
ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับอยู่ที่ 98.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 101.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวรับอยู่ที่ 90.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 93.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai มีแนวรับอยู่ที่ 96.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 98.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากปริมาณอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในอินเดียเนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงกลั่น Visakhapatnam ในวันที่ 16 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมาทำให้ Hindustan Petroleum Corp. Ltd. (HPCL) ต้องออกประมูลซื้อ Gasoline 92 RON ปริมาณรวมประมาณ 6 แสนบาร์เรลเพื่อทดแทนปริมาณน้ำมันที่หายไป โดยคาดการณ์ว่าโรงกลั่นจะสามารถกลับมาดำเนินการตามปกติได้ตอนปลานเดือน มิ.ย. 56 นอกจากนี้โรงกลั่น Kaohsiung ของบริษัท CPC ในไต้หวันได้หยุดดำเนินการหน่วย Residue Desulphurizer (RDS) กำลังการกลั่น 30,000 บาร์เรล เนื่องจากเหตุเพลิงไหม้เช่นเดียวกันทำให้ผู้ค้าคาดส่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก Gasoline ช่วงเดือน ก.ค. 56 ทั้งนี้ CPC ไม่มีการส่งออก Gasoline ในเดือน มิ.ย. 56 คาดว่าราคาน้ำมันออกเทน 95 จะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 114.42 -116.85 เหรียญต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล/ น้ำมัน Jet
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงหลังปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ทั้งสหรัฐฯ และสิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรอง Distillates เพิ่มขึ้น 1.90 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 120.70 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ IES ของสิงคโปร์รายงานปริมาณสำรอง Distillates เพิ่มขึ้น 0.2 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 9.54 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้อุปสงค์น้ำมันอากาศยานหดตัวเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในภูมิภาคอ่อนตัวลงโดยเฉพาะประเทศจีน กอปรกับ Arbitrage จากเอเชียสู่ตะวันตกปิดทำให้ปริมาณอุปทานในภูมิภาคเพียงพอ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีอุปสงค์จากตะวันออกกลางเพื่อใช้ในช่วงฤดูร้อนเพิ่มขึ้น โดย JBC คาดว่า ซาอุดีอาระเบียจะนำเข้า Gas Oil ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดือน พ.ค. 56 คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 116.42 -118.85 เหรียญต่อบาร์เรล