กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--ซีพีเอฟ
เมื่อวานนี้ (3 มิถุนายน 2556) กรมประมง นำโดย ดร. วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงอนุบาลกุ้ง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเกษตรผู้เลี้ยงกุ้ง ตลอดจนผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการป้องกันยับยั้งโรคอีเอ็มเอส (EMS) หรือโรคตายด่วน ที่กำลังสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศในขณะนี้ เพื่อตรวจสุขอนามัยฟาร์ม คุณภาพลูกกุ้งตามหลักเกณฑ์กรมประมง ตรวจหาเชื้อวิบริโอในลูกกุ้ง รวมถึงให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการอนุบาลลูกกุ้งทะเลที่ดี
ดร.วิมล กล่าวว่า การป้องกันโรคดังกล่าวเกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญกับการคุณภาพลูกุ้งที่แข็งแรงและดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งโรงเพาะฟัก และการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี เกษตรกรต้องอนุบาลลูกกุ้งก่อนปล่อยลง เป็นเวลา 30 วัน
ดร.วิมล เปิดเผย ขณะนำชมการอนุบาลลูกกุ้งของฟาร์มกุ้งทะเลทอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลช้างข้าม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี และนำชมการเลี้ยงกุ้งที่ ซีฟาร์ม 2 ต. ปากน้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง ที่ขณะนี้พบแนวทางป้องกันกุ้งตายด่วนแล้ว หลังจากพบว่ามีการเกิดโรคอีเอ็มเอส หรือกุ้งตายด่วนขึ้นใน จีน เมื่อปี 2552 เวียดนาม เมื่อต้นปี 2553 และในมาเลเซีย เมื่อปลายปี 2553 และไทย เมื่อปลายปี 2554 ในพื้นที่ภาคตะวันออก ตามลำดับ
กรมประมงไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ให้นักวิชาการประมง เร่งศึกษาหาแนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจากที่เมื่อกลางปี 2555 ที่ผ่านมา บริษัทเอกชน คือ ซีพีเอฟ ได้เข้าไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการกรมประมง เพื่อหาแนวทางดังกล่าว ซึ่งบริษัทได้นำหลายวิธีที่กรมประมงแนะนำไปศึกษาทดลอง ปฎิบัติจริงในภาคสนาม หรือฟาร์มเลี้ยงจริง พบว่า หนึ่งในวิธีหรือแนวทางป้องกันโรคตายด่วน ทางรอดที่ชัดเจนของโรคนี้ ต้องมีการอนุบาลลูกกุ้ง 30 วัน ก่อนปล่อยสู่บ่อเลี้ยงจริง ซึ่งขณะนี้ด้วยแนวทางดังกล่าว สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้
นายวีระพงษ์ ลาภสาร รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ซึ่งรับผิดชอบดูแลฟาร์มกุ้งภาคตะวันออกของบริษัทฯ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของกรมประมงจะมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพและการบริหารจัดการฟาร์มทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่โรงอนุบาลลูกกุ้ง (นอเพียซ) ลูกกุ้ง การเตรียมบ่อดิน การเตรียมน้ำ การตรวจสอบคุณภาพน้ำระหว่างการเลี้ยง การตรวจสอบสุขภาพกุ้งระหว่างการเลี้ยง เป็นแนวทางที่ดี และเกษตรกรควรจะนำไปเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
นายวีระพงษ์ กล่าวว่า สำหรับ ซีพีเอฟ ได้นำวิธีการดังกล่าวของกรมประมงมาใช้ควบคู่ไปกับแนวทางการพัฒนาการเลี้ยงของบริษัทฯมาหลายปีแล้ว และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุบาลลูกกุ้ง โดยจะมีการตรวจสอบความแข็งแรงและสุขภาพ ร่วมกับการบริหารจัดการบ่ออย่างมีประสิทธิภาพ ในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้อัตรารอดจากการเลี้ยงสูงขึ้น
“ซีพีเอฟมีการอนุบาลลูกกุ้ง 30 วันก่อนปล่อยเลี้ยง (nursery) รวมทั้งการทำ big cleaning, การตรวจสอบแฮทเชอรี่ (hatchery) ตลอดจะระบบขนส่งอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการขยายตัวของโรคตายด่วน ซึ่งจะทำให้อัตราการรอดของกุ้งสูงขึ้น ซีพีเอฟ นำวิธีการบริหารจัดการฟาร์มดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางปฎิบัติในทุกๆฟาร์ม” นายวีระพงษ์ กล่าวและว่าการดำเนินการด้วยวิธีการดังกล่าว ทำให้กุ้งรอดพ้นวิกฤตจากโรคตายด่วนได้ถึงประมาณ 80-90%
อย่างไรก็ตาม กรมประมงคาดการณ์ว่าผลผลิตกุ้งจะเริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ ซึ่งขณะนี้เกษตรกรมีการปล่อยลูกกุ้งเฉลี่ยประมาณเดือนละ 4.5 พันล้านตัว เทียบกับช่วงปกติที่ปล่อยอยู่ 5 พันล้านตัว และคาดว่าผลผลิตกุ้งของไทยในปี 2556 จะผลิตได้ 300,000-350,000 ตัน หลังจากเกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงในการแก้ปัญหาโรคตายด่วนอย่างเคร่งครัด และสามารถควบคุมโรคได้
ก่อนหน้านี้ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า หลังจากเกิดโรคตายด่วนในกุ้ง ผลผลิตหายไปจากระบบ 30-40% ของผลผลิตรวมของประเทศ และผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า