เภสัช ม.อ. เปิดตัวโรงงานยาแผนไทยมาตรฐาน GMP แห่งแรกในภาคใต้

ข่าวทั่วไป Tuesday June 4, 2013 11:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. มุ่งเน้นการให้ความสำคัญของภูมิปัญญาไทย เปิดตัวสถานผลิตยาแผนโบราณมาตรฐาน GMP เป็นแห่งแรกในภาคใต้ ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพชุมชน ผลิตยาบริการโรงพยาบาลรัฐและร้านยาเอกชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริรัศมิ์ ปิ่นสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า คณะเภสัชศาสตร์ นอกจากจะมีภารกิจด้านการเรียนการสอนและการวิจัยแล้ว ยังมุ่งเน้นการให้ความสำคัญของภูมิปัญญาไทย หรือ สมุนไพร เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เปิดตัวสถานผลิตยาแผนโบราณที่พัฒนามาจากห้องปฏิบัติการของคณะ จนได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP หรือ มาตรฐานการผลิตที่ดี เป็นแห่งแรกในภาคใต้ โดยใช้วัตถุดิบซึ่งมีในท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น เพื่อให้ได้ยาสมุนไพรที่มีคุณภาพและมุ่งเป็นแกนหลักในการพัฒนายาสมุนไพรให้กับภาคใต้ โดยได้รับความร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่าย 14 จังหวัดภาคใต้ และมีศาสตราจารย์(พิเศษ) ภก.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรผู้อุทิศตนช่วยเหลือผู้ป่วยในการผลิตยาในทวีปแอฟริกาและเอเชีย เป็นที่ปรึกษาโครงการ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีสมุนไพรอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยาสมุนไพรจะต้องผลิตจากโรงงานที่มีคุณภาพ มีกระบวนการผลิต มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีงานวิจัยต่างๆ ที่จะมาช่วยสนับสนุนให้เห็นถึงประโยชน์ของสมุนไพร สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่แพทย์ผู้รักษาและผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้มีการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมสมุนไพรให้ได้มาตรฐานนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และต้องมีการตรวจวัดในหลายขั้นตอน ทำให้มีต้นทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับโรงงานผลิตยาในภาคเอกชนหลายๆ แห่งที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านคุณภาพของยา เพื่อรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานใหม่ของ GMP ที่เรียกว่า PIC/S ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลก ส่วนโรงงานเก่าหรือโรงงานขนาดเล็ก รวมทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตยาเข้าสู่ระบบกระทรวงสาธารณสุข ยังคงจะต้องได้รับผลักดันให้กลายเป็นสถานที่ผลิตยาที่ได้รับมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่การผลิตยาที่มีคุณภาพ “สิ่งหนึ่งที่ คณะเภสัชศาสตร์ ม.อ.พยายามทำก็คือการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ในเรื่องของสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวิจัย ฤทธิ์ ความเป็นพิษ และวิธีการใช้ยาต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของคณาจารย์ที่จะทำการวิจัยและผลักดันงานวิจัยออกมาสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโรงงานผลิตยาสมุนไพรแห่งนี้จะเป็นจุดเชื่อมในการนำงานวิจัยออกไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้กับประชาชนได้จริง เชื่อว่าหากเราได้รับความร่วมมือในระบบเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานหรือภาคเอกชน อนาคตของยาสมุนไพรไทยจะไปได้อีกไกล ไม่ว่าเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือประชาคมโลกก็ตาม” คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ม.อ.กล่าว ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ยาสมุนไพรหลายชนิดได้รับการรับรอง ว่ามีความปลอดภัยสามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ายาแผนปัจจุบันใช้แล้วเห็นผลเร็ว แต่หากใช้โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะเกิดอันตรายจากผลข้างเคียง ยาสมุนไพรแม้ออกฤทธิ์ช้าแต่ผลข้างเคียงจะน้อยกว่าและปลอดภัยกว่า แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยารักษาโรคที่เกินความจำเป็นต้องระมัดระวังผลต่อตับและไต ซึ่งเภสัชกรต้องให้ความรู้ด้านนี้กับผู้ป่วย สถานผลิตยาแผนโบราณของคณะเภสัชศาสตร์ เป็นสถานผลิตยาที่มีความพร้อมที่สุดในภาคใต้สำหรับการดูงานของหน่วยงานสาธารณสุข และเป็นแหล่งเรียนรู้ผู้ประกอบการ อื่นๆ มีกำลังผลิตยาเม็ด 25,000 เม็ดต่อสัปดาห์ โดยในระยะแรกของการผลิตได้จำหน่ายที่ร้านขายยาของคณะ และต่อมาได้ให้บริการแก่โรงพยาบาลที่ใช้ยาสมุนไพรในการรักษาในภาคใต้ และ ภาคตะวันออก โดยในอนาคตจะขยายตลาดโดยใช้ศิษย์เก่าของคณะซึ่งมีร้านขายยาเป็นผู้ช่วยด้านการตลาด และหากความต้องการมากขึ้น จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มบุคลากรประจำสถานผลิตยาดังกล่าวต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ