กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของกระทรวงไอซีทีเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ว่า เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเพื่อสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การต่างประเทศ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งกระทรวงไอซีทีมีภาระกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก คือ ในส่วนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) จะเป็นเรื่องการเคลื่อนย้ายบริการอย่างเสรี บริการที่เกี่ยวข้อง คือ บริการคอมพิวเตอร์ และบริการโทรคมนาคม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับในส่วนของประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการส่งเสริมการใช้ ICT ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เด็ก และสตรี รวมถึงเรื่องการจัดการภัยพิบัติ และสุดท้ายในส่วนของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) กระทรวงฯ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศ หรือ Cyber Security
ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้เตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมาโดยตลอด อาทิ การได้เข้าร่วมประชุมหารือในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELSOM) และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELSOM) เพื่อจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศอาเซียน (ASEAN ICT Masterplan 2010-2015) สำหรับขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียนในระยะ 5 ปี (2554 - 2558) การจัดประชุม สัมมนา เสวนา รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร บริการ และเทคโนโลยีเพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยล่าสุดกระทรวงฯ ได้จัดทำแผนการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของกระทรวงไอซีทีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการ 4 ปีของกระทรวงฯ รวมทั้งกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระยะ พ.ศ. 2554-2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 และแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน (ASEAN ICT Masterplan 2015 รวมทั้งได้จัดอบรมเผยแพร่แผนฯ ดังกล่าวแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ให้ได้รับทราบเป้าหมายของการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.2558 และข้อมูลโดยรวมของแผนการดำเนินการดังกล่าว ตลอดจนแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้าน ICT กลไกการดำเนินงานความร่วมมืออาเซียน รวมทั้งการนำเสนอโครงการความร่วมมือด้าน ICT เพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกองทุนไอซีทีอาเซียน (ASEAN ICT Fund) หรือแหล่งทุนอื่น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือของอาเซียนโดยเฉพาะด้าน ICT และส่งเสริมการสร้างความตระหนักรับรู้ในเรื่องการเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป
สำหรับแผนการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของกระทรวงไอซีที ได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 6ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Economic transformation) เป็นการเตรียมความพร้อมด้านสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การทำธุรกิจเพื่อที่จะดึงดูดการค้า การลงทุน และการสร้างธุรกิจในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยุทธศาสตร์ที่ 2 การมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างศักยภาพให้แก่ประชาชน (People empowerment and engagement) เป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการเข้าถึง ICT อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ในราคาที่เหมาะสม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างนวัตกรรม (Innovation) คือการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green) โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ และความแปลกใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure development) คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานICT เพื่อสนับสนุนการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วทุกชุมชนในอาเซียน รวมทั้ง การบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา และระบบเตือนภัยพิบัติ (Disaster Management) ให้มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human capital development) เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะและความสามารถด้าน ICT เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม ICT และช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ ในภาคเศรษฐกิจ และสุดท้ายยุทธศาสตร์ที่ 6 การลดช่องว่างทางด้านดิจิทัล (Bridging the digital divide) คือการพัฒนาและส่งเสริมการนำ ICT ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างงานอาชีพ
“แผนการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของกระทรวงไอซีทีฉบับนี้ จะเป็นแนวทางให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และการประชุมในกรอบอาเซียน รวมทั้งประสานงาน และกำกับดูแลโครงการและกิจกรรมต่างๆ ตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน และภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนที่เกี่ยวข้อง โดยแผนการดำเนินการดังกล่าวจะมีการทบทวนทุกปี เพื่อปรับปรุงและเพิ่มเติมโครงการ/กิจกรรม ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องกำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองภารกิจการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศไทย” นายไชยยันต์ฯ กล่าว
ติดต่อ:
PR.MICT 02-1416747