กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
นักการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี สะท้อนการยุบรวมโรงเรียนกระทรวงศึกษา"เกาไม่ถูกที่คัน" เอารถตู้เอาอุปกรณ์มาหลอกเด็ก แต่ไปทำลายวัฒนธรรมชุมชนชี้อนาคตจะมีตำแหน่งครูชำนาญการที่พิเศษกว่าพิเศษเพื่อหาเงินค่าตำแหน่งเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยเด็กไม่ได้ประโยชน์
ที่ศูนย์อาหาร Citymall โรงแรมสุนีย์ แกรนด์แอนคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อ.เมืองจ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสะพานจากการสนับสนุนของ USAIDเชิญนักการศึกษาทั้งเอกชนและรัฐถกนโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กได้หรือเสียโดยมีผู้ปกครอง อดีตผู้บริหารสถานศึกษา ประชาชนทั่วไปสนใจร่วมรับฟัง
นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการได้สอบถาม ดร.อภิสิทธิ์ บุญยารองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 3ถึงความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาต้องยุบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนน้อยโดยมีเหตุผลสำคัญจากอะไร ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนในจังหวัดอุบลราชธานี แต่มีครูถึง 4-5 คน มีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความจำเป็นต้องยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่น เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของนักเรียน และลดภาระด้านงบประมาณรายจ่ายประจำที่เป็นเงินเดือนของครู ซึ่งปัจจุบันครูแต่ละคนมีเงินเดือนเฉลี่ย 2-3 หมื่นบาท เมื่อมีการยุบรวม ทำให้ครูทำงานให้กับรัฐได้คุ้มค่ากับเงินเดือน สำหรับเด็กนักเรียนที่ถูกยุบรวมและอาจต้องเดินทางไกลจากถิ่นที่อยู่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจัดรถตู้มาช่วยรับ-ส่งให้กับนักเรียนเหล่านั้นให้เดินทางได้สะดวกด้วย
สำหรับคำถามเกี่ยวกับมูลค่าการสั่งซื้อรถตู้ที่มีราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาดดร.อภิสิทธิ์บอกว่า เป็นการตั้งงบในราคากลาง เมื่อมีการจัดซื้อจริงราคาจะต่ำกว่านั้นแต่เรื่องการจัดซื้อรถตู้เป็นเรื่องของกระทรวงไม่เกี่ยวกับสถานการศึกษาแต่ละแห่งนักการศึกษารายนี้บอกอีกว่า การจะยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนของจังหวัดอุบลราชธานีคำตอบสำคัญขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของชุมชนด้วย โรงเรียนบางแห่งที่มีนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ 60 คนแต่มีระบบการจัดการเรียนการสอนดีกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนมากโรงเรียนแบบนี้จะไปยุบก็ไม่ได้ เพราะชุมชนไม่ยอมแน่นอน
ขณะที่นายเสมอ หาริวร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าลัง อ.โขงเจียมจ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนชายขอบติดแม่น้ำโขงกล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนของตนมีนักเรียนเพียง 39 คน ครู 3 คน แต่โรงเรียนแห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนมีระบบจัดการเรียนการสอนเน้นให้นักเรียนนำไปใช้ดำรงชีวิตประจำวันได้จริงไม่เน้นการสอนใช้ทำคะแนนแข่งขันระบบโอเน็ตเอเน็ต
หากมีการเอามาตรฐานการสอบโอเน็ตเข้ามาเป็นตัวชี้วัดนักเรียนสอบไม่ผ่านแน่นอน แต่นักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนนี้ไปแล้ว
สามารถเอาความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตของตนเองได้เพราะโรงเรียนสนอให้เอาความรู้ไปใช้สร้างความสุขและเอาความสุขของชุมชนมาเป็นตัวชี้วัดมีการจัดระบบการเรียนการสอนโดยเอาปราชญ์ของหมู่บ้านมาแนะนำ
"แต่หากมองความเจริญคือ เป็นบ้านหลังใหญ่ แต่ต้องสร้างรั้วขังตัวเองเอาไว้ แต่หมู่บ้านนี้ มีบ้านหลังเล็กแต่ทุกคนในหมู่บ้านเดินไปมาหาสู่กันได้ สิ่งของไม่เคยหาย จึงเป็นความเจริญแบบมีความสุข จึงมีการจัดระบบการสอนเพื่อตอบสนองชุมชน ไม่ได้จัดการสอนเพื่อตอบสนองการสอบเอาคะแนนอย่างเดียว"
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าล้งยังกล่าวแนะนำให้นักการศึกษาที่คิดยุบโรงเรียนขนาดเล็กลองเข้าไปศึกษาเรียนรู้ที่ชุมชนจะทราบความจริงคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เอาขนาดของโรงเรียนหรือจำนวนเด็กมาวัดแต่คุณภาพการศึกษาคือ ต้องสอนเด็กให้มีความรู้อย่างมีความสุข นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้
ขณะที่ ผศ.ดร.อารี หลวงนา รองอธิการบดีฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษานานาชาติมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึงการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกัมพูชาก็มีครูและนักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่งน้อยเช่นกัน แต่สามารถจัดระบบการเรียนการสอนได้
และในประเทศยุโรปที่มีการศึกษาตามอัทยาศัยที่ให้ผู้ปกครองที่มีความรู้เป็นผู้สอนลูกหลานหรือโฮมสคูลก็ทำได้ดี โรงเรียนในต่างประเทศถือว่า การมีนักเรียนจำนวนน้อยเป็นเรื่องดีและท้าทายความสามารถของครูผู้สอน และรัฐยิ่งสนับสนุนระบบไอทีให้มาก เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงได้มากพร้อมติงว่าแนวความคิดยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการขณะนี้ถือเป็นการทำร้ายพ่อแม่และตัวเอง เพราะก่อนจะได้เรียนในโรงเรียนใหญ่ต้องผ่านโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้มาก่อน การยุบโรงเรียนขนาดเล็กจึงเท่ากับไม่สามารถรักษามรดกทรัพย์สินที่พ่อแม่ให้ไว้ได้
นักการศึกษาท่านี้แนะทางออกของการศึกษาที่โรงเรียนมีเด็กนักเรียนจำนวนน้อยคือต้องจัดระบบการบริหารจัดการ เพราะถ้าเทียบระหว่างจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีก็ถือว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กแต่มหาวิทยาลัยราชภัฏอยู่ได้มาถึงวันนี้ เพราะมีระบบการบริหารที่ดีครูที่ดีต้องเป็นครูที่มีความคิดสร้างสรรค์
นักการศึกษารายนี้กล่าวทิ้งท้ายไว้
ขณะที่นาายคิด แก้วคำชาติ นักการศึกษาจากเครือข่ายการศึกษาทางเลือกของจังหวัดระบุว่ากระทรวงศึกษาธิการเกาไม่ถูกที่คัน ที่คิดยุบโรงเรียนตามชุมชนเพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมีรากเหง้าเกิดจากชุมชนก่อนต่อยอดไปสู่ด้านนอกการยุบโรงเรียนชุมชนเท่ากับผลักดันให้เด็กออกห่างจากชุมชนส่วนการแก้ระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ต้องไปแก้ที่ตัวกระทรวงศึกษาธิการแก้หลักสูตร และแก้บุคลากรให้ครูเป็นครูของจริงไม่ใช่นักขายสินค้าในคราบครู แล้วโทษว่าเด็กโง่ ที่อ่านเขียนหนังสือไม่ได้กระทรวงศึกษาธิการต้องยอมรับความจริงข้อนี้ก่อน
การที่โรงเรียนมีนักเรียนจำนวนน้อย ยิ่งถือเป็นเรื่องดีที่นักเรียนได้ใกล้ชิดเข้าถึงตัวผู้สอนได้ง่ายหากคนที่สอนเป็นครูของจริง นักเรียนยิ่งได้ประโยชน์ส่วนที่มองว่าต้องสูญเสียงบประมาณด้านเงินเดือนครูอยู่ที่ไหนก็สนอได้โรงเรียนไหนมีครูมากเกินไป ก็เกลี่ยไปให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครูเท่านี้ก็เป็นการแก้ปัญหาครูมากกว่านักเรียนได้
พร้อมเสนอว่าไม่ต้องเอาเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน หรือรถตู้มาหลอกเด็ก เพราะการใช้รถตู้ขนส่งนักเรียนต้องสิ้นเปลืองบประมาณกว่าการจ้างครูมาสอนเสียอีก อดีตกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายคืนครูสู่ท้องถิ่นเมื่อคนในหมู่บ้านเรียนจบก็บรรจุเข้าเป็นครูให้สอนอยู่ในชุมชน นอกจากครูจะเข้าใจวัฒนธรรมของชุมชนที่ตัวเองเติบโตขึ้นมาแล้ว ยังช่วยประหยัดทั้งเรื่องค่าที่พัก ค่าเดินทางมาสอน
นักการศึกษาทางเลือกรายนี้ ยังชี้ต่อว่า ปัจจุบันการจัดระบบการศึกษาของไทยตอบสนองระบบทุนการศึกษามากกว่าตอบสนองชุมชน นักเรียนปัจจุบันจึงเป็นนักเรียนประเภท "ท่องจำ แต่ทำไม่เป็น"เพราะมองแต่ตัวเลขที่ใช้เป็นเกณฑ์มาวัด และการยุบโรงเรียนขนาดเล็กตามชุมชนยังเป็นการทำลายเสาหลักทางวัฒนธรรมของชุมชนที่ต้องมีบ้าน วัด และโรงเรียน ที่ต้องอยู่ด้วยกันด้วย
ด้านผู้ฟังที่เป็นผู้ปกครองและอดีตผู้บริหารการศึกษาแสดงความเห็นว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการศึกษาโดยลดภาษีให้กับโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก เหมือนการลดภาษีรถหรือบ้านหลังแรกเพราะการศึกษามีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ขณะนี้กระทรวงศึกษามองถึงการลงทุนทางการศึกษาว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มหรือไม่คุ้มทุนซึ่งเป็นการมองที่ผิดพลาดอย่างมาก
โรงเรียนในชนบทขนาดเล็กบางแห่งใน อ.นาตาล นักเรียนสามารถสอบทำคะแนนโอเน็ตได้เป็นที่หนึ่งของเขตการศึกษา จึงไม่ควรหว่านแหมองโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนขาดคุณภาพทั้งที่ความจริงโรงเรียนขนาดใหญ่คือ ธุรกิจการศึกษาที่ให้กับผลกำไรกับผู้บริหารการศึกษา แต่สร้างความทุกข์ให้กับผู้ปกครอง
ผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการขณะนี้ หลายคนอดีตเป็นสังกะลี เป็นเด็กวัดมาก่อน เมื่อเข้าไปนั่งในห้องแอร์เลยลืมกำพืดตัวเองต้องกลับมามองหาอดีตตัวเอง สอบได้เกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ครูให้ผ่านต่ำกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ครูให้อยู่ต่ออีกปี ปัญหาเด็กนักเรียนน้อยไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของครูแต่ปัญหาอยู่ที่เด็กเกิดมาน้อย ครูก็ต้องปรับวิธีบริหารการจัดการไม่ใช่มีเด็กน้อยก็ไม่อยากสอน แล้วแก้ปัญหาโยนเด็กให้ไปหาที่เรียนใหม่จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด
สำหรับปัญหาเรื่องบประมาณใช้จ่ายในโรงเรียนชุมชน ทั้งพื้นกระดานชำรุดเก้าอี้พัง ผนังร้าว ชุมชนจัดผ้าป่าหาเงินมาซ่อมแซมแก้ไขกันเองชุมชนไหนเข้มแข็งร่วมกันสร้างตัวอาคารใช้เรียนใช้สอนใหม่กันเองแค่รัฐจัดหาคนที่เป็นครูมาสอนให้เท่านั้นงบประมาณที่สูญเสียไปมากขณะนี้ และตกลงมาไม่ถึงเด็ก ก็เพราะมีการตั้งตำแหน่งทั้งครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ต่อไปอนาคตจะมีตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษที่พิเศษยิ่งกว่าขึ้นมากอีกเพื่อครูหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยเด็กไม่ได้รับประโยชน์จากตำแหน่งเหล่านี้ ที่กระทรวงตั้งขึ้นมาเลย