สธ.ชี้ยอดผู้พิการไทยในยุคนี้ มีมากถึง 5 ล้านคน

ข่าวทั่วไป Monday December 8, 1997 12:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--8 ธ.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข ระบุขณะนี้จำนวนผู้พิการไทยมีมากถึง 5 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้นจากอดีตถึง 7 เท่าตัว โดยมีสาเหตุมาจากการประกอบอาชีพ ความสูงอายุ อุบัติเหตุทางจราจร และโรคเรื้อรังต่าง ๆ วอนให้ทุกหน่วยงานเน้นการป้องกัน และขยายงานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการสู่ภูมิภาค เพิ่มโอกาสให้ผู้พิการเข้าถึงบริการมากขึ้น
นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายในการช่วยเหลือผู้พิการว่า ในปี 2541 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นเงิน 101 ล้านบาท นอกจากนี้กรณีที่ผู้พิการเจ็บป่วย ก็จะได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการในสังกัดทั่วประเทศฟรีอีกด้วย ในส่วนของการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ได้สั่งการให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เร่งพัฒนาวิชาการรวมทั้งเทคโนโลยีแก้ไขความพิการ ที่สามารถนำไปใช้ในชุมชนได้ในระดับงานสาธารณมูลฐาน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้พิการซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ได้รับการพัฒนาให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ ไม่ใช่เป็นกลุ่มด้อยโอกาสในสังคม หรือเป็นเรื่องของเวรกรรมอีกต่อไป
นายแพทย์ปรากรม กล่าวว่า จากการสำรวจสถานะสุขภาพของประชาชนไทยทั่วประเทศล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2539 พบว่าประชาชนมีความพิการของอวัยวะต่าง ๆ ร้อยละ 8.1 ของประชากรในประเทศ กล่าวคือมีผู้พิการประมาณ 5 ล้านคน แยกเป็นพิการทางสายตาประมาณ 3 ล้านคน พิการทางการได้ยิน ประมาณ 3 แสนคน พิการทางแขนขาประมาณ 1 ล้านคน พิการทางจิตประมาณ 2 แสนคน พิการทางสติปัญญาประมาณ 4 แสนคน พิการแต่กำเนิดคือปากแหว่งเพดานโหว่ประมาณ 1 หมื่นคน โดยหากเปรียบเทียบความพิการในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมประมาณ 7 เท่าตัว
นายแพทย์ปรากรมกล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ผู้พิการไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น โดยพบว่าในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุก 1,000 คน จะพบความพิการได้ 34 คน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ซึ่งมักเป็นโรคเรื้อรัง อาทิโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคจากการประกอบอาชีพ และอุบัติเหตุทางจราจร ซึ่งปัจจุบันนี้ ในทุก 1 ชั่วโมง จะมีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 6 คน ดังนั้นจึงได้เร่งให้บุคลากรสาธารณสุขเร่งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ให้ประชาชนรู้จักการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อร่วมมือกันหาวิธีการป้องกัน
นายแพทย์ปรากรมกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับในแผนพัฒนาการสาธารณสุขฉบับที่ 8 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เพื่อเป็นการรองรับพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 โดยสนับสนุนให้คนพิการและประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงและได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 ส่วนผู้พิการที่ได้รับการจดทะเบียนกับกรมประชาสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพ พ.ศ. 2534 จะได้รับอุปกรณ์เสริมเทียม และเครื่องช่วยคนพิการที่เหมาะสม 100% แต่จนถึงปัจจุบันพบว่าผู้พิการใช้สิทธิดังกล่าวน้อยมาก โดยตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2539 มีผู้พิการจดทะเบียนแล้วไม่ถึง 1 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 50 พิการทางกายและการเคลื่อนไหว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ