ผลวิจัยไอบีเอ็มเผย องค์กรเพียงหนึ่งในสามของบริษัทใน S&P GLOBAL 1200 เท่านั้นที่มีการเติบโตทางธุรกิจคงที่ ตลอดช่วงทศวรรษ

ข่าวทั่วไป Monday August 15, 2005 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ผลวิจัยไอบีเอ็มเผย องค์กรเพียงหนึ่งในสามของบริษัทใน S&P GLOBAL 1200 เท่านั้น ที่มีการเติบโตทางธุรกิจคงที่ ตลอดช่วงทศวรรษ ผลวิจัยระบุปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางธุรกิจ ชี้ทางออกอยู่ที่กลยุทธ์ของแผนการเติบโตอย่างมั่นคง
ไอบีเอ็มเผยผลวิจัยชุดใหม่แสดงคุณสมบัติเชิงกลยุทธ์ที่ทำให้บริษัทมีการเติบโตทางธุรกิจอย่างคงที่ได้เหนือคู่แข่ง แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมหรือภูมิภาคที่ยากลำบากและกำลังถดถอย
รายงานเรื่องไตรกีฬากับการเติบโต (Growth Triathlon) บนฐานการวิเคราะห์ของ S&P Global 1200 ที่ใช้เวลาศึกษานาน 10 ปีชี้ว่า มีบริษัทเพียงหนึ่งในสามที่สามารถขยายรายได้ และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นสุทธิด้วยอัตราส่วนที่เร็วกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชนิดใดหรืออยู่ในภูมิภาคใดก็ตาม บริษัทที่ประสบความสำเร็จ จะมีคุณสมบัติสำคัญที่เหมือนกัน นั่นคือ ต้องแสดงให้เห็นรูปแบบธุรกิจออนดีมานด์ และสามารถตอบสนองต่อสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผลวิจัยจัดทำโดยคณะนักวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางคุณค่าธุรกิจของไอบีเอ็ม หรือ IBM Institute for Business Value
“ในขณะที่ทั่วโลกต่างมองว่า เอเชียคือภูมิภาคแห่งการเติบโต แต่ผลวิจัยยืนยันว่าการเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ได้ขึ้นกับภูมิภาคและโอกาสเท่านั้น” ดร. ซาล เจ เบอร์แมน ที่ปรึกษาด้านธุรกิจสื่อและบันเทิง หน่วยงานกลยุทธ์และการเปลี่ยนแปลง หน่วยงานที่ปรึกษาทางธุรกิจของไอบีเอ็มกล่าว “ตรงกันข้าม ทุกองค์กรต้องตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าที่ตนเองหรือคู่แข่งเคยทำไว้ และปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนโดยการปรับกระบวนการทางธุรกิจ พนักงานบุคลากร และเทคโนโลยี เพื่อให้ธุรกิจสามารถบรรลุผลลัพธ์แตกต่างไปจากเดิม”
ผลวิจัยชี้ว่า ธุรกิจคล้ายกับไตรกีฬา ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรม หรือภูมิภาคใด ถ้าจะประสบความสำเร็จได้ต้องโดดเด่นในกลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่ เส้นทาง ศักยภาพ และแรงมุ่งมั่น
เส้นทาง (Course) องค์กรที่ประสบความสำเร็จ มีการสร้างทัศนคติที่มองไกลสู่อนาคต หมั่นพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย และระดมความคิดสร้างสรรค์เพื่อรองรับเส้นทางแห่งการเติบโตข้างหน้า
ศักยภาพ (Capability) องค์กรที่ประสบความสำเร็จหมั่นทบทวนวิธีการดำเนินธุรกิจ และสร้างพันธมิตร เพื่อยกระดับให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนาศักยภาพอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อก้าวไปสู่การเติบโตอีกขั้น องค์กรที่ประสบความสำเร็จตระหนักว่า กลยุทธ์แห่งความเติบโตที่ต่างกันต้องอาศัยความสามารถรวมถึงรูปแบบทางธุรกิจที่แตกต่างกัน โดยต้องผสานเทคโนโลยี กระบวนการ บุคลากรเพื่อให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าและสามารถรับรู้และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างฉับไว
แรงมุ่งมั่น (Conviction) องค์กรที่ประสบความสำเร็จเล็งเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง เพื่อเอาชนะความเฉื่อยชาของโครงสร้างทางอำนาจเดิม และปรับฐานในส่วนที่จำเป็นเพื่อการดำเนินธุรกิจแนวใหม่ องค์กรที่ประสบความสำเร็จไม่หวั่นไหวต่อความต้องการในการเติบโตที่มักถูกเบี่ยงเบน โดยองค์กรนั้นจะต้องมีการสื่อสารแนวทางการเติบโตที่สม่ำเสมอให้กับพนักงานและผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่พร้อมจะตอบสนองต่อความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อล้มเหลว บริษัทชั้นนำมักจะคงความมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินต่อไป
“ที่ผ่านมา บริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น ทั้งวิกฤตทางอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน โรคซาร์ส (SARS) และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ แต่โดยภาพรวมในระยะยาวของภูมิภาคนี้ยังคงสดใสอยู่” นายเบอร์แมนกล่าว “การไม่ก้าวออกนอกเส้นทาง เสริมสร้างความสามารถ และปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นคือสามสิ่งที่สำคัญสำหรับบริษัทในเอเชียแปซิฟิก ที่ต้องการเติบโตไปพร้อมความสำเร็จในระยะยาว”
ผลสำรวจชี้ว่า อัตราการขยายตัวอาจไม่จำเป็นต้องมีความสม่ำเสมอเท่ากับความมุ่งมั่นของบริษัทโดยแสดงให้เห็นว่า บริษัทที่ประสบความสำเร็จคือผู้ที่สามารถฟื้นคืนจากปัญหาของตนได้ ในบรรดาบริษัทที่มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมตลอดช่วงระยะการศึกษา10 ปี มีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่เหนือค่าเฉลี่ยทุกปี บริษัทที่ประสบความสำเร็จในการขยายตัวจำนวน 94 เปอร์เซ็นต์ มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่ามาตรฐาน อย่างน้อย 1 ปีและ 72 เปอร์เซ็นต์ต้องอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานอย่างน้อย 3 ปี ดังนั้น แรงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อกลับคืนสู่สภาพเดิม จึงเป็นสิ่งจำเป็นในเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะเมื่อมีภัยคุกคามระยะสั้นเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้
ความสำคัญของศักยภาพ ยังได้รับการศึกษาด้วยงานวิจัยอีกชิ้นที่ใช้เวลา 3 ปีเพื่อศึกษาประสิทธิภาพขององค์กรที่มีความก้าวหน้าในการสร้างความสามารถเชิงธุรกิจในแบบออนดีมานด์
การวิจัยยืนยันว่า บริษัทที่หมั่นสร้างสมความสามารถเชิงธุรกิจแบบออนดีมานด์ จะมีผลประกอบการที่เหนือกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยผลวิจัยชี้ว่า บริษัทที่มีความก้าวหน้าในการประสานกระบวนการทางธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในและภายนอกองค์กร เข้ากับผู้จัดหาสินค้า ลูกค้าและบริษัทคู่ค้า จะมีผลประกอบการทางธุรกิจดีกว่าบริษัทอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉลี่ย บริษัทออนดีมานด์เหล่านี้จะ
ขยายรายได้ของตนได้เร็วกว่าบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันอยู่ 17 จุด
มีค่าการพัฒนาส่วนต่างกำไรสุทธิที่ดีกว่า 1.3 จุด
มีผลต่างของผลตอบแทนการลงทุน (ROI หรือ Return on Investment) ที่ดีกว่า 1.3 จุด และมีผลต่างของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA หรือ Return on Assets) ที่ดีกว่า 0.7 จุด
แนวทางการวิจัยตลอดระยะเวลา 10 ปี
ทีมงานวิจัยของไอบีเอ็มได้พัฒนาฐานข้อมูลการขยายตัวทางธุรกิจและผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นสำหรับบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม S&P Global 1200 ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำการศึกษาบริษัทจำนวน 1,238 แห่ง ทีมงานได้วิเคราะห์รูปแบบการขยายตัวทางรายได้ และการสร้างคุณค่าต่อผู้ถือหุ้น โดยแบ่งผลลัพธ์ออกเป็น 4 ภูมิภาค และ กลุ่มอุตสาหกรรม18 กลุ่ม ทีมงานสร้างสมมติฐานเพื่ออธิบายค่าความแปรผันของผลลัพธ์ และวิเคราะห์บริษัทด้วยการวิจัยหลักและการวิจัยรอง โดยสรุปเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ 2 ครั้งที่กำกับโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม หลังจากในแต่ละการประชุมเชิงปฏิบัติการ 6 ครั้ง ทีมงานจะทบทวนสมมติฐาน ซึ่งกระบวนดังกล่าวนี้ให้ผลออกมาเป็นแบบจำลอง “3C”
เกี่ยวกับ IBM Business Consulting Services
IBM Business Consulting Services’ Strategy & Change Practice เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผสมผสานกลยุทธ์ทางธุรกิจเข้ากับความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้องค์กรมีวิสัยทัศน์ทางธุรกิจที่ชัดเจนและวางกรอบเข้ากับกลยุทธ์ทั้ง 4 มิติ คือ กลยุทธ์ด้านธุรกิจ กลยุทธ์ด้านการปฏิบัติการ กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนองค์กร และกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นหลักประกันถึงความอยู่รอดและความเติบโต Strategy & Change ได้รับการยอมรับด้วยประสบการณ์อันยาวนานในการนำความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกว่า 17 ประเภท มาสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่สามารถใช้งานได้จริง ให้กับองค์กรธุรกิจชั้นนำมาแล้วทั่วโลก
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย:
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณกฤษณา ศิลประเสริฐ โทรศัพท์: 0-2273-4639
อีเมล์: krisana@th.ibm.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

แท็ก ไอบีเอ็ม   S&P  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ