กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)กล่าวถึงแนวทางการบูรณาการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ของกระทรวงไอซีที ว่า จากการกระตุ้นของภาครัฐตามโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายไร้สาย (Wi-Fi Network) ในสถานศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประกอบกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมีมติออกใบอนุญาต 3G เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานความเร็วสูงด้าน ICT ของประเทศไทย รวมถึงการใช้บริการที่เกี่ยวกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงฯ ได้วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาบริการภาครัฐของไทยไปสู่ระบบบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์แบบ
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบกับยุทธศาสตร์การบูรณาการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ตามที่กระทรวงฯ ได้เสนอ เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมีกรอบแนวทางในการดำเนินงาน 2 กรอบแนวทาง ประกอบด้วย กรอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานความเร็วสูงด้าน ICT ทั้งด้านโครงข่าย (Network Infrastructure) และด้านสารสนเทศ (Information Infrastructure) รวมทั้งการใช้บริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) เพื่อลดความซ้ำซ้อน และภาระการลงทุนในการพัฒนาด้าน ICT ในหน่วยงานของรัฐ และกรอบการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (e-Government Services) ตามภารกิจของหน่วยงาน ในลักษณะของระบบบริการที่มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน (Integrated e-Services) ให้บริการระบบสารสนเทศแบบรวมศูนย์ ตลอดจนกำหนดกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัย
จากกรอบแนวทางที่กระทรวงฯ ได้ตั้งไว้สามารถกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาการบูรณาการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้ 3 ยุทธ์ศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์แรกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร เป็นการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารข้อมูลภาครัฐ โดยการต่อยอดและยกระดับเครือข่าย GIN ให้เป็นโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงที่เชื่อมโยงภาครัฐสู่ประชาชนทุกภาคส่วน หรือ Super GIN เพื่อรองรับการบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การบริการด้านการเกษตร การบริการสาธารณสุขทางไกล การขยายโอกาสทางการศึกษา ตลอดจนการขยายการให้บริการสู่ระดับท้องถิ่น เพื่อการบริการประชาชน และภาคธุรกิจเอกชนที่รวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุม ยุทธศาสตร์ที่สอง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการบูรณาการศูนย์ข้อมูลภาครัฐเข้าด้วยกัน และให้มีระบบสารสนเทศแบบรวมศูนย์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด พร้อมทั้งการพัฒนาบริการคลาวด์ภาครัฐเพื่อให้บริการสำหรับหน่วยงานของรัฐ ทั้งในด้านการบริการโครงสร้างพื้นฐาน และแอพลิเคชั่น การให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐใช้บริการระบบ G-Cloud เพื่อให้เกิดการบูรณาการงบประมาณด้าน ICT และลดการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ในหน่วยงานของรัฐ นอกจากนั้นยังให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการให้บริการประชาชน และภาคธุรกิจเอกชนตามภารกิจของหน่วยงาน ในลักษณะของระบบบริการที่มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งในระยะแรกให้ดำเนินการบูรณาการบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในกระทรวงหลัก 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสุดท้ายยุทธศาสตร์การสนับสนุนการบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานดำเนินการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลในภารกิจของหน่วยงาน ตามกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ TH e-GIF รวมทั้งกำหนดมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยในการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ และมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“ยุทธศาสตร์การบูรณาการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์นี้ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ทั้งนี้เพื่อยกระดับการบูรณาการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เป็น e-service ต่อไป โดยได้พัฒนาระบบบริการคลาวด์ภาครัฐ หรือระบบ G-Cloud ขึ้น เพื่อเป็นการลดปัญหาด้านการใช้งบประมาณซ้ำซ้อนและการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่หน่วยงานของรัฐ อีกทั้งยังได้ดำเนินการในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) เพื่อรองรับระบบงานของราชการ และการบริการประชาชน ในหน่วยงานของรัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจำนวนประมาณ 1,000 หน่วยงาน ตลอดจนการส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (Thailand e-Government Interoperability : TH e-GIF) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐอีกด้วย” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ฯ กล่าว
ติดต่อ:
PR.MICT 02-141-6747