กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นายสิทธิไชย มหาคุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สาย Corporate Finance ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปี 2556 จะเป็นอีกปีที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จะรุกธุรกิจวาณิชธนกิจแบบเต็มตัว ภายใต้สายงาน Corporate Finance
สายงาน Corporate Finance ซึ่งทำหน้าที่ดูแลงานด้านวาณิชธนกิจของกลุ่มซีไอเอ็มบี แม้เป็นสายงานใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาในธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย แต่ได้เริ่มดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550 โดยดำเนินการภายใต้บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี-จีเค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด
งานทางด้านวาณิชธนกิจของกลุ่มซีไอเอ็มบี ในประเทศไทย จึงดำเนินการร่วมกันทั้งส่วนของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และบริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ซึ่งภายหลังสายงานวาณิชธนกิจได้โยกย้ายจากบล. เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เพื่อให้เกิดการประสานพลังจากเครือข่ายและฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย โดยยังคงดูแลลูกค้าของบล.ไปพร้อมๆกันด้วยเครื่องมือและบริการแบบเต็มรูปแบบ
สำหรับผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของงานด้านวาณิชธนกิจของกลุ่มซีไอเอ็มบีไทยเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา คือ ส่วนแบ่งการตลาดในการเสนอขายหลักทรัพย์ให้ประชาชนทั่วไป (IPO) ในประเทศไทยตลอดปี 2555 สูงเป็นอันดับ 1 โดยการจัดอันดับจาก Bloomberg ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 17 % คิดเป็นมูลค่ารวม 8,700ล้านบาท ซึ่งดีลที่สำคัญได้แก่ การเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายร่วม หุ้นสามัญของบมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) (หรือบริษัท holding ของบริษัท ไทย แอร์เอเชีย) การเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายร่วม หุ้นสามัญของบมจ. อนันดา ดีเวล็อปเมนท์ (ANAN)การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย กองทุนอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHPF) และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายร่วม กองทุนอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า
ควอลิตี้เฮ้าส์ โฮเท็ล แอนด์ เรสิเดนท์ (QHHR)
ในปี 2555 กลุ่มซีไอเอ็มบีไทย ยังได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับดีลการควบรวมกิจการ (M&A) ให้แก่บมจ. ซัสโก้ ในการเข้าซื้อสถานีน้ำมันจากปิโตรนาส และเป็นที่ปรึกษาในการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่ม Fico และ บมจ.อีโวลูชั่น แคปปิตอล ขณะเดียวกัน กลุ่มซีไอเอ็มบีไทยยังได้มีส่วนร่วมเป็นผู้จัดการการจำหน่ายหน่วยลงทุนเพิ่มทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า เทสโก้ โลตัส รีเทล โกรท (TLGF) ให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ
นอกจากนี้ กลุ่มซีไอเอ็มบี ยังเป็นผู้นำในการเสนอขายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ให้ประชาชนเป็นครั้งแรก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในการเสนอขายกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีส่วนร่วมใน 9 ดีล จากทั้งหมด 19 ดีล โดยดีลที่เป็นผู้นำการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ได้แก่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHPF), กองทุนอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า ควอลิตี้เฮ้าส์ โฮเท็ล แอนด์ เรสิเดนท์ (QHHR), กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DTCPF), กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตรีนิตี้ (TNPF), กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจิสติคส์ (TLOGIS), กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทรัพย์ศรีไทย (SSTPF), กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบมีกรรมสิทธิ์ 101 มนตรี สโตร์เรจ (MONTRI), กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบมีกรรมสิทธิ์ เมอร์เคียว สมุย (MSPF)
นายสิทธิไชย กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 สายงานวาณิชธนกิจของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีงานที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นงานประเภท IPO เป็นจำนวน 4 ดีล งานกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 4 ดีล และงานควบรวมและเข้าซื้อกิจการจำนวน 6 ดีล คิดเป็นมูลค่างานรวมมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีงานอีกจำนวนพอสมควรที่อยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้า
“จุดแข็งที่ทำให้สายงานวาณิชธนกิจของ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยมีความเข้มแข็งได้แก่ โครงสร้างการให้บริการที่ครบวงจรของกลุ่มที่สนับสนุนการเสนอขายหลักทรัพย์ กล่าวคือ มีฐานลูกค้าครอบคลุมทั้งลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบีไทย และ ลูกค้าของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ที่ครอบคลุมโดยกลุ่มซีไอเอ็มบี นอกจากนี้ ความครอบคลุมของบริษัทในหลายประเทศ ช่วยสนับสนุนงานทางด้านเข้าซื้อ หรือ ควบรวมกิจการข้ามประเทศ ของลูกค้าได้เป็นอย่างดี” นายสิทธิไชย กล่าว
สำหรับกลุ่มซีไอเอ็มบีในภูมิภาค มีส่วนแบ่งการตลาดในการดำเนินการ IPO เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย —แปซิฟิค (ไม่รวมญี่ปุ่น) ในปี 2555 คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายรวม 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยดำเนินการ 3 ใน 5 ดีลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย