กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--แฟรนคอม เอเชีย
บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง สิงคโปร์ จำกัด (“โทรีเซน ชิปปิ้ง”) ผู้ให้บริการเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองชั้นนำและบริษัทในเครือของ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (“TTA”) ได้ตกลงซื้อเรือ M.V. Thor Fearless ซึ่งเป็นเรือสินค้าแห้งเทกองประเภท Supramax มือสองอายุ 7 ปี ขนาดระวางบรรทุก 54,881 เดทเวทตัน เข้ามาเสริมกองเรือ ส่งผลให้จำนวนเรือของกองเรือโทรีเซน ชิปปิ้งเพิ่มขึ้นเป็น 17 ลำ
การซื้อเรือ M.V. Thor Fearless ซึ่งเป็นเรือประเภท Supramax ลำที่ 9 ของกองเรือโทรีเซน ชิปปิ้ง นอกจากจะส่งผลให้กองเรือมีขนาดระวางบรรทุกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 48,629 เดทเวทตัน และอายุเฉลี่ยของกองเรือลดลงมาอยู่ที่ 11.1 ปีแล้ว ยังนับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญก้าวหนึ่งภายใต้แผนการพัฒนาธุรกิจของโทรีเซน ชิปปิ้ง ซึ่งมุ่งเน้นเสริมศักยภาพของบริษัทด้วยการเลือกซื้อเรือขนส่งสินค้าเทกองที่มีประสิทธิภาพสูง ทันสมัย ในราคาที่สมเหตุสมผล
เรือ M.V. Thor Fearless เป็นเรือลำที่สามที่สร้างโดยอู่ต่อเรือ Oshima Shipbuilding Inc. ในประเทศญี่ปุ่นของกองเรือโทรีเซน ชิปปิ้ง โดยก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ได้เคยรับมอบเรือสั่งต่อใหม่จากอู่แห่งนี้มาแล้ว คือ เรือ M.V. Thor Fortune ในปี 2554 และเรือ M.V. Thor Friendship ในปี 2553 ยิ่งไปกว่านั้น เรือ M.V. Thor Fearless ยังเป็นเรือที่มีระวางบรรทุกสินค้าเป็นทรงสี่เหลี่ยมแบบกล่อง จึงมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งทั้งสินค้าเทกองและสินค้าทั่วไปที่ไม่สามารถบรรจุลงในตู้คอนเทนเนอร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเยื่อไม้ กังหันลม เหล็ก หรือท่อต่างๆ
“การรับมอบเรือในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเสริมทัพกองเรือโทรีเซน ชิปปิ้ง ที่จะซื้อเรือ Supramax มือสองที่มีเทคโนโลยีทันสมัย คุณภาพสูง ในจำนวนและจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดยระมัดระวังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณกองเรือที่กำลังล้นตลาด ซึ่งจะเป็นการทำให้ตลาดตกอยู่ในสภาวะผันผวน” มร. เอียน แคล็กซ์ตัน กรรมการผู้จัดการของโทรีเซน ชิปปิ้ง กล่าวในพิธีรับมอบเรือ M.V. Thor Fearless ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น “ถึงแม้ว่าตลาดในภาพรวมจะยังคงต้องเผชิญกับภาวะค่าระวางเรือตกต่ำ แต่การที่เราเน้นแผนการตลาดในการนำเรือออกไปให้บริการให้ครอบคลุมทั่วโลกมากขึ้น ควบคู่ไปกับการควบคุมดูแลต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ก็ทำให้โทรีเซน ชิปปิ้ง อยู่ในสถานะได้เปรียบและพร้อมที่จะคว้าโอกาสในการเติบโตทันทีที่ตลาดเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเราก็หวังว่าจะเป็นปีหน้า ขณะเดียวกัน เราก็จะมองหาโอกาสในการลงทุนซื้อเรือในช่วงนี้ ซึ่งราคาเรือกำลังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เพื่อขยายกองเรือต่อไป”
นอกจากนี้ โทรีเซน ชิปปิ้ง ยังมีกำหนดที่จะรับมอบเรือลำที่ 18 ประมาณช่วงต้นเดือนกรกฎาคมอีกด้วย เรือดังกล่าวจะมีชื่อว่า M.V. Thor Breeze มีขนาดระวางบรรทุก 53,000 เดทเวทตัน เป็นเรือสั่งต่อใหม่ลำที่สองที่บริษัทได้สั่งซื้อจากบริษัท ฮาลอง ชิปบิลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของวินาชิน กรุ๊ป เมื่อหลายปีก่อน
M.V. Thor Fearless photo ? Nate Sandel marinetraffic.com
เกี่ยวกับ Thoresen Shipping Singapore Pte. Ltd. (TSS)
โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นกลุ่มธุรกิจให้บริการเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองในเครือของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) โดยประกอบไปด้วยสองบริษัทย่อยด้วยกัน ได้แก่ โทรีเซน ชิปปิ้ง สิงคโปร์ และ โทรีเซน แอนด์ โค (กรุงเทพฯ) และล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2556 โทรีเซน ชิปปิ้งได้ทำการเปิดสำนักงานให้เช่าเรือแห่งใหม่ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบัน กองเรือของโทรีเซน ชิปปิ้ง ประกอบไปด้วยเรือประเภท Handymax และ Supramax จำนวนทั้งสิ้น 17 ลำ โดยในจำนวนนี้ เป็นเรือที่ติดตั้งระบบเครนและสายพานเคลื่อนย้ายสินค้าจำนวน 7 ลำ และเรือที่มีระวางบรรทุกสินค้าเป็นรูปทรงกล่องอีก 10 ลำ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถค้นหาได้ที่ www.thoresenshipping.com
เกี่ยวกับ TTA
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแผนการลงทุนของบริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจอย่างสมดุลและหลากหลาย ทั้งในกลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ TTA ได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจจากเดิมที่เคยเป็นแต่เพียงผู้ให้บริการเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ด้วยการขยายการลงทุนไปยังบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ และนำบริษัท เมอร์เมดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หลังจากนั้น บริษัทฯ จึงได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจโลจิสติกส์และปุ๋ยในเวียดนาม (Baconco) ธุรกิจเหมืองถ่านหินในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และธุรกิจโลจิสติกส์ถ่านหิน (บมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส) ธุรกิจขนส่งน้ำมัน (Petrolift) และธุรกิจท่าเรือในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (Baria)