กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--วธ.
นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆนี้ นายเอนก สีหามาตย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำโครงการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก เพื่อเสนอของบประมาณต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุม ครม. สัญจรนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 9 - 10 มิถุนายน 2556 ณ จังหวัดกำแพงเพชร ในฐานะประธานคณะทำงานว่า หลังจากที่ทางคณะทำงานทั้งกรมศิลปากร และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลงพื้นที่แหล่งอุทยานประวัติศาสตร์มาแล้วนั้น ได้มีข้อสรุปที่ค่อนข้างชัดเจนในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ทั้ง 3 แห่ง และจะจัดทำเป็นวาระเพื่อเตรียมเสนอต่อ ครม. โดยมีสาระสำคัญต่างๆ ทั้งในด้านศักยภาพและทรัพยากรทางวัฒนธรรมของพื้นที่ ซึ่งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีจุดเด่น คือ เป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่สำคัญของโลก และมีระบบชลประทาน
นายสนธยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรอบแนวคิดและเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุทยานเหล่านี้ จะใช้หลักการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมีอยู่ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. ทรัพยากรทางวัฒนธรรม (Culture) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับทรัพยากรทางวัฒนธรรม พร้อมอนุรักษ์สืบสานให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน 2.ชุมชนท้องถิ่น (Community) การยกระดับรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตในขณะที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตและรากวัฒนธรรมไว้ได้อย่างสมดุล 3. อุตสาหกรรมและธุรกิจท่องเที่ยว (Commercial) จะต้องมีธุรกิจที่ได้ผลกำไรที่เหมาะสมและมีความยั่งยืน สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ 4. การเชื่อมโยงพื้นที่ (Connectivity) มีระบบการคมนาคมขนส่งทั้งภายในและระหว่างพื้นที่ ทั้งเส้นทางหลักและรอง อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย และ5. สิ่งแวดล้อม (Green) มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมบรรยากาศของเมืองวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่งนี้ จะเริ่มจากการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จาก 800,000 คน ในปี 2556 เป็น 2,000,000 คน เพิ่มระยะเวลาการท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 และรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมของมรดกวัฒนธรรม วัฒนธรรม และวิถีชีวิต รวมทั้งมูลค่าของการซื้อสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น