กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมเปิดตัวศูนย์จัดการกากของเสียแห่งแรกของไทยในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เป็นศูนย์ข้อมูลให้คำปรึกษาและบริการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (Waste Information Center) เพื่อการดำเนินการจัดการของเสียในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป็นการยกระดับการจัดการกากของเสียในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรวมได้อย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม สำนักงานคันไซ ประเทศญี่ปุ่น (METI-Kansai) กรมโรงงานอุตสาหกรรม และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลให้คำปรึกษาและบริการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ภายใต้หลัก 3R (Reduce, Reuse & Recycle) โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2556 นี้ และคาดว่าจะมีพนักงานในโรงงานและชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการตั้งศูนย์ดังกล่าวกว่า 120,000 คน จาก จากจำนวนโรงงานกว่า 500 โรงงาน สำหรับนักลงทุน ผู้ประกอบการ ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-253-0561 ต่อ 1112, 1132 และ 02-253-2965 หรือเข้าไปที่ www.ieat.go.th
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากการที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนโยบายในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้อยู่ร่วมกับสังคม ชุมชนแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน บนหลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Symbiosis) โดยหนึ่งในประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ การจัดการกากของเสีย ซึ่ง กนอ. ได้มีมติเร่งรัดให้โรงงานต่าง ๆ เข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง โดยปัจจุบันมีโรงงานที่เข้าระบบขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานทั้งสิ้น 1,904 โรงงาน จากจำนวนกว่า 4,000 โรงงาน อย่างไรก็ตาม นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่ดำเนินการภายใต้หลักการ 5 มิติ 22 ด้าน โดยให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการกากของเสีย ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลให้คำปรึกษาและบริการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (Waste Information Center) แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อการดำเนินการจัดการของเสียในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
นายวิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กนอ. ได้ร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม สำนักงานคันไซ ประเทศญี่ปุ่น (METI-Kansai) กรมโรงงานอุตสาหกรรม และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลให้คำปรึกษาและบริการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ภายใต้หลัก 3R (Reduce, Reuse & Recycle) อีกทั้งยังเป็นศูนย์บริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการของเสียแบบครบวงจรอีกด้วย (One Stop Service หรือ OSS) เพื่อร่วมกันดำเนินการให้กากอุตสาหกรรมได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมาย นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่นในการจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำ โดยมีการถ่ายทอดเทคนิคในทุกขั้นตอนของระบบ ตั้งแต่การขนส่งกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมไปจนถึงการฝังกลบด้วยระบบเทคโนโลยีขั้นสูง และการนำส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้กลับมาใช้ใหม่เพื่อให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการจัดการของเสียในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรวมได้อย่างยั่งยืน โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2556 นี้ และคาดว่าจะมีพนักงานในโรงงานและชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการตั้งศูนย์ดังกล่าวกว่า 120,000 คน จาก จากจำนวนโรงงานกว่า 500 โรงงาน นอกจากนี้ ในอนาคต กนอ. ยังมีแผนในการให้บริการการจัดการวัสดุเหลือใช้ของโรงงานในนิคมฯ อย่างครอบคลุม เบ็ดเสร็จ และครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยก การปรับสภาพ การรีไซเคิล การบำบัดและการกำจัด เป็นต้น
สำหรับนิคมฯอมตะ ยังมีระบบการบริหารจัดการภายในนิคมอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ โดยมีกิจกรรมการดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม จัดให้มีการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการธงขาวดาวเขียวของรัฐบาล และ การให้รางวัลสถานประกอบการที่จัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่น (EIA Monitoring) มาอย่างต่อเนื่อง มีการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศจากปล่องระบายอากาศของโรงงาน เฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำผิวดินซึ่งการตรวจวัดเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งยังมีแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการกำกับดูแลโรงงานที่อยู่ภายในโรงงานนิคมฯอมตะให้สอดคล้องตามเกณฑ์ชี้วัดที่ กนอ. กำหนด ทั้งนี้ นิคมฯ อมตะนคร ยังได้ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 / ISO 50001TIS OHSAS 18001 ในด้านการส่งเสริมให้โรงงานเข้าสู่ระบบบริหารจัดการระดับสากลและระดับประเทศ ซึ่งพบว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมฯ ได้รับการรองรับแล้วมากกว่าร้อยละ 40 นายวิฑูรย์ กล่าวสรุป
สำหรับนักลงทุน ผู้ประกอบการ ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-253-0561 ต่อ 1112, 1132 02-253-2965 หรือเข้าไปที่ www.ieat.go.th