กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดนโยบายที่สำคัญคือ การพัฒนา “เกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด” เพื่อพัฒนาเกษตรกรทั่วประเทศให้เป็น “Smart Farmer” โดยเป็นตัวแทนครัวเรือนเกษตรกรที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และมีความพร้อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่าการผลิตทางการเกษตร ที่ดำเนินการ สอดคล้องกับวิถีชีวิตและลักษณะการประกอบการของแต่ละครัวเรือน ให้ความสำคัญในการใช้องค์ความรู้และข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มีการนำเทคโนโลยี ภูมิปัญญาและวิธีการปฏิบัติที่ดีมาใช้หรือพัฒนา โดยตระหนักถึงคุณภาพมาตรฐานและปริมาณ ตามความต้องการของตลาด รวมถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวมีประสิทธิภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer รวมทั้งได้ขอความร่วมมือกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมทั้งจังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานระดับกรมและระดับจังหวัดตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันได้แต่งตั้งทั้งหมดแล้วทำให้กลไกการขับเคลื่อนนโยบายมีความครอบคลุม ในทุกระดับ นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ได้กำหนด แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายฯ โดยกำหนดคุณสมบัติของ Smart Farmer และแนวทางการคัดกรอง จัดกลุ่มเกษตรกรตัวแทนครัวเรือนออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย เกษตรกร ที่เป็น Smart Farmer อยู่แล้ว เกษตรกรเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็น Smart Farmer และ เกษตรกรที่มีวิธีปฏิบัติที่ดีมีความโดดเด่นในแต่ละสาขา ซึ่งจะทำให้รู้ข้อมูลเกษตรกรว่าประสบปัญหาหรือต้องการการพัฒนาในด้านใด เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาได้สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น
พร้อมนี้ ได้สั่งการให้คณะทำงานระดับจังหวัดทำการสำรวจและคัดกรองเกษตรกรตัวแทนครัวเรือนออกเป็น 3 กลุ่มดังกล่าว และรายงานผลการสำรวจภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2556 รวมทั้งให้ถอดบทเรียน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ ประสบการณ์ วิธีการปฏิบัติที่ดีของ Smart Farmer ต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จและมีความโดดเด่นนำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้เรียนรู้และปรับปรุงวิธีปฏิบัติของตนเองได้ต่อไป โดยหลังจากนี้ เมื่อได้ข้อมูลเกษตรกรทุกกลุ่มทั่วประเทศแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางให้คณะทำงานระดับกรม คณะทำงานระดับจังหวัด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง กำหนดโครงการและกิจกรรมการพัฒนาที่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละกลุ่ม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างให้เกษตรกรมีความสามารถในการคิดเป็น วิเคราะห์เป็น ใช้ข้อมูลเป็น และแก้ปัญหาเป็นดำเนินการตามวิถีการผลิตที่เหมาะสมของเกษตรกรแต่ละราย เช่น การทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรเชิงพาณิชย์ Contract Farming ไร่นาสวนผสมหรืออื่นๆ เป็นต้น โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายการกำหนดเขตความเหมาะสม (Zoning) สำหรับการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมงด้วย เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป