กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ชูกลยุทธ์ “แฟชั่นมุสลิมไฮเอนด์” หมัดเด่นสร้างจุดขายอุตสาหกรรมแฟชั่นมุสลิมโดย 5 จังหวัดชายแดนใต้
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผย 3 กลยุทธ์พัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมแก่วิสาหกิจชุมชนทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 50 กลุ่ม รวม ไม่ต่ำกว่า 350 คน อันได้แก่ กลยุทธ์ดึงประเพณีวัฒนธรรมพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ กลยุทธ์สร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี และกลยุทธ์สร้างมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์พร้อมถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นพัฒนารากฐานความรู้และทักษะของผู้เข้าร่วมโครงการ ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะโดยใช้แนวคิดจากประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมภาคใต้ หวังสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอในภาคใต้ โดยได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนตั้งเป้าปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิมคุณภาพสูงใน AEC เพื่อส่งขายในตลาด AEC รวมถึงตลาดโลกที่มีประชากรมุสลิมกว่า 2 พันล้านคนโดยปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิม โดยมีมูลค่าอุตสาหกรรมกว่า 5.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมในประเทศไทยซึ่งมีประชากรมุสลิมประมาณ 6.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรในประเทศ มีมูลค่าตลาดประมาณ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 7,200 ล้านบาท ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 — 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thit.org www.thaitextile.org/muslim
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี สตูล และนราธิวาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยวางกลยุทธ์ พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งด้านการออกแบบพัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมถึงบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาด พร้อมมุ่งเน้นพัฒนารากฐานความรู้และทักษะของนักออกแบบ
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะโดยใช้แนวคิดจากประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมภาคใต้ ที่สามารถพัฒนาเป็นลวดลายผ้าอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ โดยหวังพัฒนอาชีพ สร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างบุคลากรเตรียมความพร้อมสู่ตลาด AEC และตลาดสากล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และอุตสาหกรรมจังหวัด สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ
- กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมสู่เชิงพาณิชย์ ดำเนินการฝึกอบรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม ภายใต้แบรนด์ Lawa@THTI ใน Collection บุหงาสลาตัน ประกอบไปด้วย ดอกไม้ประจำท้องถิ่นจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ดอกกามูติง ดอกดองดึงส์ ดอกชบา ดอกลีลาวดี และดอกรองเท้านารี พร้อมผลักดันสู่ตลาด และหาช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ
- กิจกรรมที่ 2 การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ด้านเส้นใยทั้งเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างทางเลือกแก่ผู้ประกอบการ ถ่ายทอดความรู้ด้วยเทคโนโลยีด้านการตกแต่งสำเร็จ รวมไปถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยแบ่งผลงานตามกลุ่มรวม 3 กลุ่มดังนี้
1. กลุ่มผ้าพื้นเมืองได้แก่ ผ้าเกาะยอ จ.สงขลา มีการนำเอาวัสดุเส้นใย สับปะรด บัวหลวง ฝ้ายสีมาทอร่วมกับด้ายฝ้ายทำให้ผ้าที่ได้มีความแตกต่างทั้งด้านสี และความแข็งแรงของใยผ้าเนื่องจากด้ายสับปะรดมีความแข็งแรงสูง ผ้าจวนตานี จ.ปัตตานี พัฒนาการออกแบบลายทอ รวมทั้งการขึ้นแบบสำหรับชุดแต่งกายสตรี และนำผ้ามาใช้สำหรับทำกระเป๋า
2. กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกายมุสลิม โดยการพัฒนาผ้าซึ่งใช้เส้นใยจากธรรมชาติผสมผสานกับการเทคนิคการทอแบบใหม่ทำให้เนื้อผ้ามีความนุ่ม สามารถถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่แนบเนื้อซึ่งเหมาะอย่างมากกับเครื่องแต่งกายพิธีการของมุสลิม และการพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุที่ทันสมัยผสมผสานกับเอกลักษณ์และวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เช่นเทคนิคการปักฉลุ เทคนิคการพิมพ์ด้วยบล็อกไม้และบล็อกโลหะ ฯลฯ
3. กลุ่มผ้าบาติก พัฒนาผ้าโดยการปรับปรุงเส้นใยด้วยเทคโนโลยี ทำให้สีที่ย้อมติดได้ดีขึ้น เนื้อผ้านุ่มขึ้น พร้อมใช้เทคนิคในการเขียนลาย รวมทั้งพัฒนาผ้าบาติกในกลุ่มสปาและเคหะสิ่งทอ
- กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้คุณภาพ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) โดยได้มีการอบรม Train the Trainer แก่กลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 5 พร้อมระดมประเด็นปัญหาคุณภาพสิ่งทอในท้องถิ่น เพื่อเตรียมจัดทำ คู่มือคุณภาพสิ่งทอ เผยแพร่ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นการพัฒนาศักยภาพแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการยกระดับสิ่งทอใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรองรับการการส่งออกทั้งในและต่างประเทศ
โดยสรุปรวมการดำเนินงานทั้ง 3 กิจกรรมมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 50 กลุ่ม รวมไม่ต่ำกว่า 350 คน สามารถพัฒนาทักษะ สร้างงาน สร้างอาชีพด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากนวัตกรรมสิ่งทอ ผ่านการออกแบบและถ่ายทอดความรู้จากดีไซน์เนอร์มืออาชีพระดับแนวหน้าของประเทศ รวมทั้งเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หลากหลายรูปแบบที่ได้คุณภาพและมาตรฐานรวมกว่า 20 คอลเลคชั่น
นางสุทธินีย์ กล่าวต่อว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำได้มองเห็นถึงโอกาสอันดีที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล ยะลา นราธิวาส สงขลา ปัตตานี) ที่เป็นแหล่งผลิตผ้ามุสลิมที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งสามารถส่งออกไปขายยังประเทศที่มีความต้องการ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียและประเทศในแถบตะวันออกกลางที่มีความต้องการและมีกำลังซื้อที่สูงเพื่อเป็นการผลักดันให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการส่งออกและเป็นฐานการผลิตผ้ามุสลิมทั้งในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกได้ โดยปัจจุบันใน AEC อินโดนีเซียเป็นเจ้าตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิม ซึ่งประเทศไทยต้องสร้างจุดขายด้วยการตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิมคุณภาพสูงใน AEC พร้อมเจาะตลาดกลุ่มมุสลิมที่มีกำลังซื้อสูงในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันมีประชากรมุสลิมรวมทั้งหมดกว่า 1.62 พันล้านคน
ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2556 การส่งออกสิ่งทอไทยมีมูลค่า 3,242 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดอาเซียนที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 524.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมากที่สุดคือ ผ้าผืนมีมูลค่าการส่งออก 201.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.34 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในส่วนข้อมูลเครื่องแต่งกายของมุสลิม ประชากรในโลกมุสลิมที่มีจำนวนสูงถึง 2 พันล้านคน คิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลกซึ่งมีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิมรวมที่ 9.6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในอาเซียนมีประชากรมุสลิมกว่า 258 ล้านคน มีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิม 4.8 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในอินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมกว่า 212 ล้านคน มีมูลค่าตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิม 5.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และในไทยมีประชากรมุสลิม 6.9 ล้านคน มีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิม 240 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ นางสุทธินีย์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 — 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thit.org , www.thaitextile.org/muslim
ติดต่อ:
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 — 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thit.org , www.thaitextile.org/muslim