กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--การไฟฟ้านครหลวง
การไฟฟ้านครหลวง ประกาศผลอาคารที่ผ่านมาตรฐาน “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” รอบแรกจำนวน 23 อาคาร โดยจัดพิธีมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ ระดับที่ 1 “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” เพื่อรับรองมาตรฐานและประกาศเกียรติคุณให้แก่อาคารแห่งการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งทั้ง 23 อาคารนี้ ยังต้องไปลุ้นต่อในการประกวดรอบชิงชนะเลิศ เป็น “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน ดีเด่น” รับรางวัลมูลค่ารวม 5 ล้านบาท โดยพิธีมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ ระดับที่ 1 “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” ในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ห้องเวิลด์บอลรูม B ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา
นายอาทร สินสวัสดิ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะประธานในพิธีมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ ระดับที่ 1 “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” เปิดเผยว่า การไฟฟ้านครหลวง เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ ของประเทศและภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารโรงพยาบาล และอาคารเพื่อการค้าปลีกค้าส่ง (ไฮเปอร์มาร์เก็ต) ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับภาคประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนการประหยัดพลังงานในผู้ประกอบการอาคารและภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้น การไฟฟ้านครหลวง จึงได้จัดทำ โครงการ “ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร” หรือ MEA Energy Saving Building ประกวดสุดยอดอาคารประหยัดพลังงานในเขตจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง โดยในปี พ.ศ. 2556 ถือเป็นปีแรกในการดำเนินโครงการ ซึ่งได้มีการจัดการประกวดใน 2 ประเภทอาคารนำร่อง ได้แก่ อาคารโรงพยาบาล และอาคารเพื่อการค้าปลีกค้าส่ง (ไฮเปอร์มาร์เก็ต)
จากการเปิดรับสมัครอาคารเพื่อการประกวดในโครงการดังกล่าว พบว่า มีอาคารทั้งสองประเภทให้ความสนใจสมัครเข้าประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 52 อาคาร ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการ ได้ดำเนินการประเมินผลและคัดเลือกอาคารที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยจะต้องเป็นอาคารที่มีนโยบาย แผนงาน และบุคลากร ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร ตลอดจนมีผลการประหยัดในระดับผ่านเกณฑ์การใช้พลังงาน ตามค่าดัชนีการใช้พลังงานของ กฟน. ( MEA Index) ซึ่งเป็นอัตราส่วนของปริมาณการใช้พลังงานจริงของอาคารกับปริมาณการใช้พลังงานที่ควรจะเป็นของแต่ละอาคาร
จากการประเมินพบว่ามีอาคารที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกรอบแรก จำนวน 23 อาคาร เพื่อรับมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ ระดับที่ 1 “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” เพื่อรับรองมาตรฐานและประกาศเกียรติคุณให้แก่อาคารแห่งการอนุรักษ์พลังงานจากการไฟฟ้านครหลวง โดยแบ่งออกเป็นอาคารประเภท ต่าง ๆ ดังนี้
อาคารโรงพยาบาล จำนวน 7 อาคาร แบ่งออกเป็น
โรงพยาบาลเอกชน จำนวน 4 อาคาร ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์, โรงพยาบาลพญาไท 2, โรงพยาบาลพญาไท 3 และโรงพยาบาลนครธน
โรงพยาบาลรัฐ จำนวน 3 อาคาร ได้แก่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี, โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมี และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
อาคารเพื่อการค้าปลีกค้าส่ง (ไฮเปอร์มาร์เก็ต) จำนวน 16 อาคาร แบ่งออกเป็น
กลุ่มอาคารของ บริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซีสเทม จํากัด (เทสโก้ โลตัส) จำนวน 10 อาคาร ประกอบด้วย เทสโก้ โลตัส สาขาแจ้งวัฒนะ, ซิตี้ปาร์ค บางพลี, ซีคอนสแควร์, บางแค, พระราม 2, พระราม 4, มีนบุรี, เมอร์รี่คิงส์ ปิ่นเกล้า, วังหิน และสาขาสุขาภิบาล3
กลุ่มอาคารของ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 อาคาร ประกอบด้วยบิ๊กซี สาขาติวานนท์, สุขาภิบาล 3 และสาขาสำโรง 2
กลุ่มอาคารของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 อาคาร ประกอบด้วยแม็คโคร สาขาแจ้งวัฒนะ, ศรีนครินทร์ และสาขาสาทร
โดยทั้ง 23 อาคารที่ได้รับรางวัลในระดับที่ 1 นอกจากได้รับมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน” แล้ว ยังต้องเข้าไปประกวดต่อในระดับที่ 2 เพื่อค้นหาสุดยอดอาคารประหยัดพลังงานกับ กฟน. โดยอาคารที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจะได้รับตราสัญลักษณ์ “กฟน. อาคารประหยัดพลังงาน ดีเด่น” และอาคารที่มีผลงานดีเด่นสูงสุดในแต่ละประเภทอาคารจะได้รับเงินรางวัลประเภทอาคารละ 2 ล้านบาท ลำดับรองลงมาประเภทอาคารละ 5 แสนบาท รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้น 5 ล้านบาท ซึ่งจะมีการประเมินและประกาศผลรางวัล “ กฟน. อาคารประหยัดพลังงานดีเด่น” อีกครั้งในช่วงปลายปี 2556
“โครงการส่งเสริมปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร กฟน. จัดทำขึ้นเพื่อแสดงเจตจำนงว่า การไฟฟ้านครหลวง ถึงแม้ว่าเป็นองค์การที่ขายไฟฟ้า แต่ยังสนับสนุนให้ประหยัดไฟฟ้า ก็เพื่อผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับท่านเจ้าของอาคารเอง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการส่งเสริมการปรับปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร จะช่วยส่งเสริมให้เจ้าของอาคารเกิดแรงจูงใจในการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาคาร จะถูกเผยแพร่ไปยังสายตานานาประเทศ และได้รับการพัฒนาสู่สากลต่อไปในอนาคต”นายอาทรกล่าว