กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--คสช.
ที่ประชุม คสช.ห่วงใยสุขภาพคนไทย ไฟเขียว 'โรดแมป' ลดผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมเสนอ ครม. หนุนแผนแม่บทพลังงานชีวมวลนำร่อง 12 จังหวัด ควบคู่การยกระดับมาตรการป้องกัน แก้ไข ตรวจสอบและประเมินผลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
จากการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานที่ประชุมเปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนหรือโรดแมปการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้ง ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่ง คสช.ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ระดมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ โดยสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานและแผนแม่บทพลังงานชีวมวลระดับจังหวัด นำร่องใน ๑๒ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลำปาง อุตรดิตถ์ นครราชสีมา ชัยภูมิ อุดรธานี กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร พร้อมไปกับอีก ๑๒ จังหวัด ที่เครือข่ายภาคประชาชนมีการจัดกระบวนการเรียนรู้อยู่แล้ว ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุบลราชธานี เชียงราย ปราจีนบุรี สระแก้ว ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง กระบี่ และสตูล
พร้อมทั้งเร่งหาข้อสรุป เรื่องการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดโซนนิ่งสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ให้มีระยะห่างที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อวิถีชุมชน รวมทั้งปรับปรุงมาตรการป้องกัน และติดตามตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม คสช.ยังให้ความสำคัญกับการเร่งหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อลดความซ้ำซ้อนของกฎหมาย โดยเฉพาะอำนาจในการเพิกถอนการประกอบกิจการโรงไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับทั้ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ร.บ.การสาธารณสุขและพ.ร.บ.โรงงานเพื่อสร้างความมั่นใจในการบังคับใช้กฎหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในส่วนของชุมชน มีโรดแมปส่งเสริมความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังและดูแลชุมชน โดยพัฒนาคู่มือและแนวทางสำหรับสร้างความเข้าใจและกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวลในระดับชุมชน (Community Health Impact Assessment : CHIA)
หลังจากนี้ คสช.จะเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและแผนการขับเคลื่อน เรื่อง การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้มาจากความเห็นพ้องต้องกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี้ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายทุกหน่วยงานรับไปปฏิบัติต่อไป
นอกจากนี้ คสช.ยังได้รับทราบความคืบหน้าและปัญหา อุปสรรคของการขับเคลื่อนมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๔ โดยได้กำหนดเป้าหมายยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทุกชนิดภายในปี ๒๕๕๕ แต่การดำเนินงานยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ขณะนี้ยังต้องรอแผนการยกเลิกการนำเข้า ผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ คสช. ให้ติดตามเรื่องนี้โดยใกล้ชิด และนำมารายงานในการประชุมครั้งต่อไป
คสช. ยังได้รับทราบถึงความสำเร็จและความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ..๒๕๕๒ ซึ่งนอกจากจะสามารถขับเคลื่อนธรรมนูญฯให้เป็นฐานอ้างอิงในการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องทุกระดับแล้ว ยังสามารถสนับสนุนการจัดทำธรรมนูญระบบสุขภาพพื้นที่ไปแล้ว ๔๐ ฉบับ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดและธรรมนูญสุขภาพเฉพาะประเด็น เช่น ธรรมนูญลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมย์ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่มุ่งเน้นให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเข้มแข็ง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกระดับอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ คสช.ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการ คสช. เป็นประธาน เพื่อทบทวนธรรมนูญฯให้ สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดให้ทบทวนธรรมนูญฯ อย่างน้อยทุก๕ ปี ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ นี้