อุตสาหกรรมเหล็กอาเซียนยังสดใส เร่งภูมิภาคผนึกแน่นเพิ่มอำนาจซื้อวัตถุดิบ

ข่าวทั่วไป Monday June 10, 2013 09:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน ประชุมเหล็กอาเซียนเชื่อมั่นตลาดเหล็กยังโตต่อเนื่อง จากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไทย-มาเลเซีย-เวียดนาม-อินโดนีเซีย เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มี โครงการลงทุนสาธารณูปโภคด้านการขนส่งกว่า 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลช่วยผลักดัน ชี้อาเซียนยังพึ่งการนำเข้า ต้องร่วมมือกันด้านจัดซื้อแร่เหล็กเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และพัฒนามาตรฐานสินค้า เมื่อวันที่ 3-6 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนหรือ Southeast Asia Iron & Steel Institute (SEAISI) ร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT) จัดงานสัมมนา 2013 SEAISI Conference & Exhibition ภายใต้หัวข้อ "Developing Competitive Steel Industry in ASEAN” ซึ่งถือเป็นเวทีสัมมนาใหญ่ระดับภูมิภาค มีผู้บริหารและซีอีโอในวงการอุตสาหกรรมเหล็กจาก 25 ประเทศทั่วโลก กว่า 400 ร้อยคนเข้าร่วม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเหล็กภายในภูมิภาคทั้งในด้านการค้า การผลิต และเทคโนโลยี ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างเนื่องจากปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กจะมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้าง และเครื่องจักรกล นอกจากนี้โครงการลงทุนสาธารณูปโภคด้านการขนส่งกว่า 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในช่วง7ปีข้างหน้า ในส่วนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กนั้น นายวิน วิริยะประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเหล็กแผ่นครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนซี่งเป็นผู้ได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนี้ ชี้ว่าตลาดเหล็กในอาเซียนยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นแรกของการพัฒนาเท่านั้น “ปริมาณการใช้เหล็กต่อคน (Steel Consumption per capita) ของประชากรในอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 90 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่ายังต่ำมากหากเทียบกับการบริโภคเหล็กในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีปริมาณการบริโภคเหล็กอยู่ที่ประมาณ 200-500 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยหลักการแล้วการเติบโตของความต้องการใช้เหล็กของประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมจะแปรผันตามการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อคน (GDP per capita) ทั้งนี้คาดว่า GDP per capita ของประชากรอาเซียนจะเพิ่มจาก 3,700 เหรียญสหรัฐในปี 2010 เป็น 13,000 เหรียญสหรัฐภายในปี 2030 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เป็น 262 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และคาดว่าปริมาณความต้องการใช้ เหล็กของอาเซียนจะเพิ่มจาก 49 ล้านตันในปี 2010 เป็น 194 ล้านตัน ในปี 2030 โดยมี 4 ประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญได้แก่ประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย”นายวินกล่าว อย่างไรก็ตามนายวินระบุว่า ถึงแม้ตลาดเหล็กอาเซียนจะมีอนาคตที่สดใส แต่ความเป็นจริงก็คือปัจจุบันอาเซียนยังคงพึ่งพาการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศอยู่มาก โดยเฉพาะเหล็กนำเข้า จากจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ โดยในปี 2012 ปริมาณการบริโภคเหล็กในอาเซียนทั้งสิ้น 56 ล้านตัน พบว่าประมาณ 14 ล้านตันหรือ 1 ใน 4 ของปริมาณการใช้เหล็กของอาเซียนเป็นการนำเข้าจากประเทศจีน นายวินกล่าวเสริมว่า สิ่งที่ท้าทายผู้ผลิตเหล็กอาเซียนก็คือ การแสวงหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน การจัดการกับความผันผวนของราคาของวัตถุดิบ และระยะเวลาการส่งมอบที่ไม่แน่นอน กลยุทธ์ที่บริษัทสหวิริยาฯให้ความสำคัญก็คือการมีแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กปลายน้ำ ในส่วนของอาเซียนนั้นควรมีความร่วมมือกันมากขึ้น เช่น การร่วมมือกันจัดซื้อแร่เหล็กเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง การร่วมกันสร้างมาตรฐานสินค้าที่มีความสอดคล้องกัน เป็นต้น ซึ่ง SEAISI ต้องแสดงบทบาทมากขึ้นในการผลักดันเรื่องเหล่านี้ นอกจากเวทีอภิปรายต่างๆ ที่จัดขึ้นในงานสัมมนาครั้งนี้แล้ว ยังมีการจัดการประชุมสภาเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน (ASEAN Iron & Steel Council) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้ SEAISI ขึ้นด้วย โดยสมาชิกประกอบด้วยซีอีโอจากบริษัทเหล็กชั้นนำของอาเซียน โดยประเด็นสำคัญที่มีการอภิปรายในที่ประชุม ได้แก่ การส่งเสริมการค้าเหล็กภายในภูมิภาคอาเซียน (Intra-ASEAN trade) การรวมตัวของผู้ผลิตเหล็กอาเซียนเพื่อแก้ปัญหาเหล็กทุ่มตลาดจากจีนที่กำลังสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมเหล็กในหลายประเทศ การร่วมกำหนดมาตรฐานสินค้าเหล็ก (Common Steel Standards) เพื่อป้องกันเหล็กนำเข้าจากนอกภูมิภาคที่มีเจตนาเลี่ยงภาษีอากร เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ