กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--WWF ประเทศไทย
WWF เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางทะเล เนื่องในวันมหาสมุทรโลก พบว่าทะเลที่เป็นสัญลักษณ์ของโลกหลายแห่ง กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างยิ่ง
ทะเลจีนใต้และอินเดียตะวันออก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและทะเลดำ ทะเลเหนือและหมู่เกาะบริติช คือเส้นทาง อันตราย และอาจเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเรือ
“นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา มีรายงานอุบัติเหตุเรือขนส่งสินค้า 293 ครั้งในทะเลจีนใต้และอินเดียตะวันออก ซึ่งเป็นบ้านของ สามเหลี่ยมปะการัง และสายพันธุ์ปะการังร้อยละ 76 ของทั้งโลก” ดร. ไซมอน วาล์มสลีย์ ผู้จัดการด้านทะเล WWF สากล กล่าว “เมื่อเดือนเมษายนนี้ เราพบว่ามีเรือประมงของจีนเกยตื้นบริเวณแนวปะการังอนุรักษ์ของฟิลิปปินส์ ซึ่งก็เพิ่งได้รับความเสียหายจากเรือของกองทัพเรือสหรัฐไปเมื่อเดือนมกราคม”
เกือบ 1 ใน 4 ของเรือที่อับปางกลางทะเลคือ เรือประมง แต่ปรากฏว่าเรือสินค้าทั่วไปนั้น อับปางถึงมากกว่าร้อยละ 40 ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าที่มักเดินเรือในเส้นทางขนส่งสินค้าระยะใกล้ ส่วนใหญ่ดำเนินการค้าแบบขาจรซึ่งจะไม่มีการกำหนดเส้นทางเดินเรือที่แน่นอน รวมทั้งมักจะรับส่งสินค้าตามโอกาส โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับชนิดและปริมาณของสารอันตรายที่ขนส่ง รวมทั้งน้ำมันตลอดจนความอ่อนไหวของพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุทางทะเล
ในปี 2545 เรือขนส่งน้ำมันเพรสทีจอับปางในมหาสมุทรแอตแลนติก ส่งผลให้น้ำมันมากกว่า 70,000 ตัน รั่วไหลลงมหาสมุทร แอตแลนติกนอกชายฝั่งประเทศสเปน
“เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากเรือเพรสทีจ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความสูญเสียทาง เศรษฐกิจราวๆ 8 พันยูโร หรือมากกว่า 300,000 ล้านบาท และแม้จะเป็นอุบัติเหตุขนาดเล็ก แต่หากเกิดขึ้นในพื้นที่ที่สภาพ แวดล้อมเปราะบาง เช่น เกรท แบริเออร์ รีฟ ก็จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน” ดร. วาล์สลีย์ กล่าวเพิ่มเติม
แบบจำลองความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แสดงให้เห็นว่าการเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ สตอร์ม เซิร์จ การเปลี่ยนแปลงของ ทิศทางลมและกระแสคลื่น รวมทั้งการเกิดสภาพอากาศรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเรืออับปาง และมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างหายนะทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งร้อยละ 50 ของอุบัติเหตุทางทะเลที่เกิดขึ้นนั้น คือเรืออับปาง เพราะสภาพอากาศเลวร้าย เรือรั่ว หรือเรือแตก
เรือสินค้าทั่วโลกที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และเริ่มมีการเดินเรือในเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุมากยิ่งขึ้น จะยิ่งก่อให้เกิด ผลกระทบรุนแรงเพิ่มขึ้นตามมา นอกเสียจากจะมีการวางมาตรการป้องกัน เพื่อจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่ถูกระบุไว้
“เราอยากเห็นการส่งเสริมให้เจ้าของและผู้เดินเรือในอุตสาหกรรมเรือขนส่งสินค้า ประกอบการอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งสนับสนุน ให้เจ้าของเรือ ขึ้นสัญชาติเรือ หรือลงทะเบียนกับประเทศต้นสังกัดเรือที่วางมาตรฐานดีกว่า”
“นอกจากนี้แล้ว ยังควรที่จะเปิดเผยรายชื่อของเจ้าของเรือ หรือประเทศที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือบริหารจัดการไม่ดี เพื่อจูงใจให้พวกเขายกระดับมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้อุบัติเหตุที่ยังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ลดจำนวนลงได้” ดร. วาล์สลีย์กล่าวปิดท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร WWF ประเทศไทย อีเมล uchamnanua@wwfgreatermekong.org